การมีโอกาสเข้าร่วมโครงการครุวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล เมื่อปิดภาคฤดูร้อนปีการศึกษา 2551 โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นครั้งแรกของหลายสิ่งหลายอย่างสำหรับฉัน ไม่ว่าจะเป็นการไปใช้ชีวิตอยู่บนเกาะกลางทะเล การขึ้นเรือ การวิเคราะห์คุณภาพน้ำทะเล และเป็นครั้งแรกสำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการที่ใช้เวลานานถึง 30 วัน
ฉันจึงตั้งใจแก้โครงการวิจัยให้ตรงกับสิ่งที่สนใจจะศึกษา คือเรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบคุณภาพน้ำทะเลบริเวณท่าบนและถ้ำพัง อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพน้ำทะเลบริเวณท่าบนและถ้ำพัง และเปรียบเทียบข้อมูลคุณภาพน้ำทะเลในช่วงน้ำขึ้นและน้ำลง
เมื่อต้องมาอยู่ในห้องปฎิบัติการทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ ทุกอย่างต้องเริ่มหัดใหม่หมด ตั้งแต่การฝึกใช้เครื่องมือต่างๆ การเตรียมสารเคมี ระหว่างเตรียมสาร ฉันทำอุปกรณ์แตกไปหลายอย่าง เวียนหัวจากการเหม็นสารเคมีบ้าง ชั่งสารมาผิดบ้าง ทำให้เสียเวลาเตรียมสารเคมีง่ายๆถึง 2 วัน แต่ฉันก็ได้เรียนรู้ว่า ทุกครั้งที่ผิดพลาดหรือมีอุปสรรค เมื่อเราแก้ไขหรือผ่านไปได้ก็จะเกิดการเรียนรู้ที่คงทน
พอถึงสัปดาห์ที่ 3 ฉันไม่มีความรู้สึกคิดถึงบ้านเลย ภาพเกาะสีชังตอนพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้า และพลบค่ำพระอาทิตย์ตกดิน เป็นภาพที่สวยงามน่าประทับใจมาก ประเพณีสงกรานต์ที่นี้มีความแตกต่างจากบ้านของฉัน และเป็นสงกรานต์กับเพื่อนครูจากทุกภาคของประเทศ ได้ความอบอุ่นสนุกสนาน และมีมิตรภาพที่ดีต่อกัน งานวิจัยเสร็จสมบูรณ์อย่างรวดเร็ว ด้วยความเอาใจใส่ของคุณครูนักวิจัยพี่เลี้ยง ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ได้ ฉันพร้อมจะนำไปใช้ ที่โรงเรียนได้ทันที
ขอบคุณ John dewey ที่เสนอทฤษฎีการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง ( Learning by doing ) การเรียนแบบนี้ทำให้เราเข้าใจอย่างลึกซึ้ง มีความสุข และมีแรงกระตุ้นให้อยากเรียนรู้ตลอดเวลา การส่งเสริมนักเรียนให้เรียนด้วยการเผชิญสถานการณ์ คิดและทำจริง เป็นประสบการณ์ที่มีความหมาย ไม่มีวันลืม และที่สำคัญการส่งเสริมให้ผู้เรียนทำงานเป็นกลุ่ม ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ใช้สื่อการสอน และกิจกรรมที่หลากหลาย การใช้แรงจูงใจระหว่างเรียน เช่น รางวัล การชมเชย คะแนน การลงโทษ จะช่วยให้เกิดความสนใจ ตั้งใจ ขยันหมั่นเพียรในการเรียนและทำกิจกรรม
มากขึ้น
การเข้าค่ายอบรมครุวิจัยครั้งนี้ ทำให้ครูวิทยาศาสตร์โรงเรียนชนบทอย่างฉัน เปลี่ยนแนวความคิดจาก “ อะไรก็ไม่มี ” เป็น “ ทุกอย่างมันประยุกต์ได้ ” อย่างตอนนี้ นักเรียนที่โรงเรียนช่วยคิดอุปกรณ์ ตู้บ่มอุณหภูมิ 20 OCโดยให้ฝังไว้ใต้ดิน ใกล้ๆแหล่งน้ำ รับรองอุณหภูมิไม่แปรปรวน ตู้บ่มสำหรับตรวจสอบเชื้อแบคทีเรียโคลิฟอร์ม ก็ใช้ water bath ตั้งไว้ที่อุณหภูมิ 32 OC และที่สำคัญ ขวด BOD ที่ราคาแสนแพงสำหรับโรงเรียนของเรา ตอนนี้ไม่แพงแล้ว มีวางอยู่ทั่วไป นั่นคือ ขวดไวตามิลค์ ทูโก ขวดมีสีใสและปริมาตร 300 ลูกบาศก์เซนติเมตรพอดี และนักเรียนของฉันได้เริ่มทำโครงงานเกี่ยวกับการวิเคราะห์คุณภาพน้ำในบริเวณโรงเรียนและชุมชนไปบางส่วนแล้ว
ขอบคุณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ทำให้มีโครงการดีๆแบบนี้ ขอบคุณสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ เกาะสีชัง ขอบคุณคุณครูนักวิจัยพี่เลี้ยงสำหรับความเอาใจใส่ ขอบคุณเพื่อนครูครุวิจัยร่วมรุ่นทุกท่านที่มาจากทุกภาคของประเทศไทย และที่สำคัญ การเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส การเปลี่ยนความขาดแคลน ไปเป็นการประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับครูชนบท และนักเรียนตัวเล็กๆ ในชนบท ที่จะไปเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพของประเทศไทยและช่วยกัน “สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้” ต่อไป
ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 7 หน้าที่ 7 เขียนโดย ครูมุกดา บุตรวงค์ สควค.รุ่น 6 ครู คศ.1 ร.ร หนองทุ่มศรีสำราญวิทยา จ.ศรีสะเกษ