KruSmart : ครูผู้สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ : ร่วมกันก้าวหน้า ทำการศึกษาคุณภาพ

การสอนเพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ ผู้ยิ่งใหญ่กล่าวไว้ว่า “โลกสร้างเราขึ้นคือผลผลิตแห่งความคิดเราโลกจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้หากเราไม่เปลี่ยนความคิด”การเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่เราต้องพบเจอเสมอในการดำรงชีวิต ในระบบการศึกษาของวิทยาศาสตร์ก็เช่นกัน ในปี 2500 ประเทศรัสเซียประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมไปโคจรรอบโลก เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการแผ่รังสีของชั้นบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟีย   มีชื่อว่า สปุตนิก (Sputnik) ช่วงเวลาดังกล่าวคือการแผ่ขยายของสงครามเย็น  และนับเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ทำให้สหรัฐอเมริกาหันมาทุ่มเทและความสำคัญกับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง

มีรายงานจาก President’s Science Advisory Committee (PSAC) ถึงการกระตุ้นสหพันธ์ในการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์ ด้วยคำขวัญ “Education for the Age of Science”  เพื่อสร้างวัฒนธรรมนักวิทยาศาสตร์  และ ในปี 1958 ได้กำหนดคำขวัญของการรู้วิทยาศาสตร์ว่า Scientific Literacy: Its Meaning for American School (Lawrence.  2011 : 13)  ประเทศแนวหน้าของเอเซียอย่างประเทศสิงคโปร์ ที่ถูกยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีความก้าวกระโดดทางระบบการศึกษา  ก้มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยได้มีพัฒนาหลักสูตรการศึกษาใน 3 ช่วงเวลาคือ  1959-1978 : survival Drive, 1979-1996 : Efficiency Driven, 1997-present : Ability-Based Aspiration Driven. (Hoo, 2011) รวมถึงประเทศฟินแลนด์ที่แม้เคยเกิดเหตุการณ์วิกฤตการทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในช่วงปี 1990 แต่เมื่อรัฐบาลหันมาส่งเสริมนโยบายการศึกษาและการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้ปัจจุบันประเทศฟินแลนด์ซึ่งถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จากการวัดความสามารถของผู้เรียนในโครงการ PISA (OECD. 2009 )  ในงาน Edca 2011ที่ผ่านมา  Sir Michael Barber กล่าวว่า  “ปี 2020 การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาเป็นความจำเป็นและเป็นไปได้” (By 2020 global educational transformation is both necessary and possible) ถ้าจะอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์แล้วการเปลี่ยนแปลงทางความรู้และแนวทางการปฏิบัติ ก็คือธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ (Nature of science) การเปลี่ยนแปลง (Something Change)  จะเกิดขึ้นเพื่อพัฒนาความคิดบนพื้นฐานของหลักฐานและเปลี่ยนความคิดเมื่อมีหลักฐานใหม่ที่ดีกว่าและแตกต่างจากเดิม (Crowther, Lederman and Lederman (2005 : 50-51)

ระบบการศึกษาของประเทศไทยเองก็มีการเปลี่ยนแปลง พัฒนาอยู่ตลอดเวลา เพราะตระหนักถึงถึงความสำคัญของการศึกษา ที่จะต้องเตรียมผู้เรียนให้มีศักยภาพเท่าทันนานาประเทศ ได้เร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ ปรับเปลี่ยนแนวคิด และกระบวนการจัดการศึกษาใหม่ ในปีพุทธศักราช 2542 แนวคิดหนึ่งที่กล่าวไว้ใน พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  คือเน้นความสำคัญที่ครู เพราะการปฏิรูปการศึกษาและการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายและแผนการศึกษาแห่งชาติจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับครู เพราะครูเป็นผู้นำแนวคิดหรือนโยบายทางการศึกษาลงมาสู่ระดับปฏิบัติในระดับห้องเรียน โดยผ่านกระบวนการเรียนการสอน ครูจึงเป็นบุคคลสำคัญที่สุดที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวบรรลุเป้าหมาย (กรมสามัญศึกษา. 2543)

เมื่อมีการประกาศปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) และการก่อตั้งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2540 ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างได้รับประโยชน์จากความร่วมมือที่ช่วยให้ ผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ และสามารถเพิ่มอำนาจต่อรองกับประชาคมอื่นๆในโลกให้สูงขึ้น การบริหารปกครองกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ให้เป็นหนึ่งเดียวกันตลอดจนการประชุมสุดยอดอาเซียนในปี พ.ศ.2550(ค.ศ.2007) ที่มีความตกลงให้เร่งรัดการจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้แล้วเสร็จเร็วขึ้นอีก 5 ปี คือ ภายในปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015) ซึ่งมีการลงนามรับรอง “ร่างกฎบัตรอาเซียน” (ASEAN Charter) เพื่อใช้เป็นกติกาในการอยู่ร่วมกันที่เน้นความยึดมั่นในหลักการแห่งประชาธิปไตยหลักนิติธรรมและธรรมาภิบาล การเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ที่จะนำไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน  ดังคำขวัญที่ว่า “One Vision, One Identity, One Community” การเตรียมความพร้อมเข้าสู่สมาคมอาเซียน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ส่งผลต่อระบบการศึกษา และผู้ที่รับหน้าที่ในการเตรียมความพร้อมให้สังคมไทยสามารถจะก้าวสู่สังคมอาเซียนได้อย่างภาคภูมิใจก็คือ ครูไทยนั่นเอง หน้าที่ของเราคือการจัดการศึกษาเพื่อก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน สอดคล้องกับนโยบายในการขับเคลื่อนการปฏิรูป การศึกษาในทศวรรษที่สอง ที่มุ่งสร้างคนไทยยุคใหม่ให้มีความรู้ความดี และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข ซึ่งหมายรวมถึง การจัดการศึกษาเพื่อให้คนไทยมีความพร้อมที่จะเป็นพลเมืองอาเซียน ที่สามารถแข่งขันได้และอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านอย่างสันติสุข (กมลรัตน์  ฉิมพาลี. http://pumpuyinlove.wordpress.com)  ภาษาทางราชการของอาเซียนคือ ภาษาอังกฤษ สิ่งแรกที่ครูสามารถทำได้เลยคือการบูรณาการวิชาที่เราสอนเข้ากับภาษาอังกฤษ การบูรณาการคือ การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นการบูรณาการ คือการนำเนื้อหาสาระที่มีความเกี่ยวข้องกันมาสัมพันธ์ให้เป็นเรื่องเดียวกัน และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในลักษณะที่เป็นองค์รวมและสามารถนำความรู้ความเข้าใจไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ (ทิศนา  แขมมณี.2548:147) เราสามารถ การบูรณาการระหว่างวิชา (Interdisciplinary) คือ การนำเนื้อหาสาระของหลาย ๆ วิชามาสัมพันธ์ให้เป็นเรื่องเดียวกัน

ยกตัวอย่างเช่น นำเนื้อหาสาระของวิชาภาษาไทยคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศิลปะและดนตรี มาประสานสัมพันธ์เป็นเรื่องเดียวกันภายใต้หัวข้อเรื่อง หรือ “Theme” ที่เลือก ตัวอย่างเช่น การสอนเรื่องการสืบพันธุ์พืชดอก เราสามารถที่จะบูรณาการวิชาชีววิทยาในสาระที่ 1 สิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิตมาตรฐาน ว 1.1  เข้าใจหน่วยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์ของโครงสร้าง และหน้าที่ของระบบต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตที่ทำงานสัมพันธ์กัน มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้  สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิตของตนเองและดูแลสิ่งมีชีวิต กับวิชาภาษอังกฤษ ในสาระที่ 3ภาษากับความสัมพันธ์กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นมาตรฐาน ต 3.1ใช้ภาษาต่างประเทศในการเชื่อมโยงความรู้กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น และเป็นพื้นฐานในการพัฒนา  แสวงหาความรู้  และเปิดโลกทัศน์ของตนได้ (กระทรวงศึกษาธิการ. 2551 : 100,238) ในขั้นสุดท้ายของการจัดการเรียนการสอนนี้ก็ควรสอดแทรกเรื่องอาเซียน โดยนำดอกไม้ประจำชาติของสมาชิกในกลุ่มอาเซียนมาเป็นสื่อในการเรียนการสอน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ครูสามารถทำได้ทันที  เราไม่สามารถวิ่งหนีการเปลี่ยนแปลงได้ สิ่งที่ทำได้อันดับแรกคือ การเปลี่ยนแปลงความคิดและมุมมองต่างๆ เราเปลี่ยนเพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่าและรักษารากเหง้าความดีงามของเราไว้ ถ้าเปรียบโลกของชีวิตจริงคือการศึกษา แบบทดสอบการเรียนรู้ที่สำคัญก็คือการเปลี่ยนแปลง ครูและนักเรียนที่สอบผ่าน คือผู้ที่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและสามารถดำรงตนในสังคมโลกได้อย่างมีความสุขนั่นเอง

เอกสารอ้างอิง

(1) กมลรัตน์ ฉิมพาลี.  ตระหนัก…รับรู้…สู่ประชากรอาเซียน : การเรียนรู้อาเซียน. สืบค้นวันที่ 15 มกราคม 2555 จาก http://pumpuyinlove.wordpress.com
(2) กระทรวงศึกษาธิการ. หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีพุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ : กระทรวงศึกษาธิการ,  2551.
(3) ทิศนา  แขมมณี. ศาสตร์การสอน : องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ. พิมพ์ครั้งที่  4. กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์, 2548.
(4) กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ.พระราชบัญญัติการศึกษาแห่ชาติ พุทธศักราช 2542. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2543.
(5) Crowther, D.T., Lederman,N.G. and Lederman, J.S. “Understanding the True Meaning of Nuture of Science”.  Science and Children. 2005.
(6) Hoo, J. “Differentiated Instructions For the Differentiated Classrooms” PowerPoint Presentation. Educa 2011, Thailand.
(7) Lawrence, C.R. The “History and Nature of Science”  in the Era of Standards-Based Reform. ”. Unpublished  Master dissertation. Arizona State University, America.  2011.
(8) OECD. Against the Odds: Disadvantaged Students Who Succeed in School, oecD Publishing. Paris : OECD.2011.


ภาพประกอบจาก : http://2.bp.blogspot.com/-dvTS48XDLgM/TzEu0hVPNnI/AAAAAAAABMg/XbQqEmm9Jss/s1600/as.gif#sthash.Rbb5nabS.dpuf
บทความนี้เขียนโดย : นางสาวกมลรัตน์   ฉิมพาลี นักศึกษา (ทุน สควค.) ปริญญาเอก สาขาหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เผยแพร่เมื่อ 12 เมษายน 2555

Exit mobile version