ครุวิจัยไดโนเสาร์ การศึกษาการลำดับชั้นหิน แหล่งฟอสซิลบริเวณห้วยด่านชุม ด้านทิศเหนือ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม

stratigraphy-researchการเรียนการสอนในวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย  ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องโลก  ดิน หินแร่  และการเกิดซากดึกดำบรรพ์ ฯลฯ   มีหลายอย่างที่ทำให้การสอนไม่บรรลุจุดประสงค์  เนื่องจากไม่มีความรู้เพียงพอ จึงไม่กล้าที่จะสอนหรือแนะนำนักเรียนได้อย่างเต็มที่ ความกังวลเหล่านั้นได้ลดน้อยลงเมื่อ สกว. มอบโอกาสให้ข้าพเจ้า เข้าร่วมโครงการครุวิจัย ที่พิพิธภัณฑ์ภูกุ้มข้าว อ.สหัสขันธ์  จ.กาฬสินธุ์   ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศของเรา ฟอสซิลไดโนเสาร์เหล่านี้เป็นหลักฐานสำคัญที่มีค่ายิ่งในด้านการศึกษาวิจัยถึงเรื่องราวการดำเนินชีวิตของสัตว์ดึกดำบรรพ์ ที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินที่ราบสูงของไทยในบรรพกาล สำหรับงานครุวิจัยของศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ มุ่งเน้นการศึกษาวิจัย 2 ลักษณะ คือ
     1. การสำรวจ ขุดค้นและอนุรักษ์ตัวอย่างฟอสซิลอย่างเป็นระบบ
     2. การศึกษาลักษณะทางธรณีวิทยาของแหล่งฟอสซิล รวมถึงลักษณะสภาพแวดล้อมบรรพกาลในแหล่งที่ค้นพบฟอสซิล

สัปดาห์ที่ 1 ของการเข้าร่วมโครงการ จะเป็นการปรับความรู้พื้นฐานทางด้านธรณีวิทยา โดยนักธรณีวิทยาที่มีชื่อเสียงจากกรมทรัพยากรธรณี รวมถึงการทดลองเก็บรักษาตัวอย่าง ศึกษาขั้นตอนการทำงานของนักธรณีวิทยาในการทำการอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ที่ขุดค้นขึ้นมา และทำการศึกษาสภาพแวดล้อมทางธรณีวิทยาของภูกุ้มข้าวในภาคสนาม

สัปดาห์ที่ 2 จะออกศึกษาในภาคสนามในจังหวัดต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วย หนองบัวลำภู เลย ขอนแก่น กาฬสินธุ์ โดยทำการศึกษาลักษณะของหิน ส่วนประกอบ  แร่ธาตุต่างๆ รวมถึงการค้นหาซากฟอสซิล สภาพแวดล้อมบรรพกาลที่ทำให้เกิดฟอสซิล การไหลของทางน้ำโบราณ การตายของไดโนเสาร์ การใช้ชีวิต พืชและสัตว์ที่อยู่ร่วมสมัยกับไดโนเสาร์ การเยี่ยมชมเหมืองแร่เหล็ก เหมืองแร่ทองคำ  และโรงงานน้ำตาล ซึ่งจากการศึกษาในภาคสนามทำให้ได้รับประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับคุณสมบัติของดิน หิน แร่ และซากฟอสซิล การเก็บตัวอย่างที่ถูกวิธี การค้นหาซากฟอสซิลตลอดจนการอนุรักษ์ที่ถูกวิธี และการทำนายถึงสภาวะแวดล้อมบรรพกาลต่างๆ

สัปดาห์ที่ 3 จะเป็นการศึกษาข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้องจากห้องสมุดของพิพิธภัณฑ์เพื่อปรับแก้โครงการวิจัยที่ทำการศึกษา

สัปดาห์ที่ 4 เก็บข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องที่ทำการศึกษาวิจัยในภาคสนาม วิเคราะห์ข้อมูลจากตัวอย่างที่เก็บจากภาคสนาม และดำเนินการวิจัยเต็มรูปแบบ ปรับแก้รายงานการวิจัยโดยคณะพี่เลี้ยง นำเสนอผลการวิจัย และส่งรายงานฉบับสมบูรณ์

ผู้เขียนได้ทำการวิจัยเรื่อง “การศึกษาการลำดับชั้นหิน ณ บริเวณห้วยด่านชุม ด้านทิศเหนือ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม” ซึ่งเป็นแหล่งที่พบรอยตีนไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทยแหล่งหนึ่ง โดยทำการศึกษาการลำดับชั้นหิน ส่วนประกอบ และโครงสร้างชั้นหินแต่ละชั้น ตลอดจนการเทียบเคียงเพื่อหาอายุของลำดับชั้นหิน ซึ่งพบว่าชั้นหินบริเวณห้วยด่านชุม เป็นหมวดหินโคกกรวด กลุ่มหินโคราช ซึ่งประกอบไปด้วยชั้นหินทราย มีอายุ 100-150 ล้านปี อยู่ในยุค ครีเตเชียสตอนปลาย ชั้นที่พบรอยเท้าไดโนเสาร์จะเป็นชั้นหินทรายเนื้อละเอียด มีชั้นหินโคลนบางๆเคลือบอยู่ผิวบน ทำให้มองเห็นรอยเท้าไดโนเสาร์ได้ชัดเจน และที่ชั้นนี้จะพบรอยริ้วคลื่น พร้อมทั้งระแหงโคลนอยู่ร่วมกันกับรอยเท้าด้วย

การที่มีโอกาส ได้ค้นหาคำตอบด้วยตนเองในครั้งนี้  ทำให้ข้าพเจ้ามีความมุ่งมั่นและมั่นใจที่จะถ่ายทอดความรู้ที่ได้ ไปสู่นักเรียน เพื่อให้นักเรียนเป็นบุคคลใฝ่รู้ใฝ่เรียน และร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ต่อไป

ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 3 (เมษายน-มิถุนายน 2550) หน้าที่ 10 เขียนโดย ครูคำสอน   สีเพ็ง สควค.รุ่น 8 ครู ร.ร.บ้านโสกแสง จ.อุบลราชธานี



Leave a Comment