การนิเทศภายในโรงเรียน
การนิเทศการศึกษา เป็นการศึกษาแขนงหนึ่งที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ในการดำเนินงาน การเป็นศาสตร์นั้น การนิเทศการศึกษามาจากเหตุและผล โดยใช้หลักการแนวคิด ทฤษฏีที่ผ่านการพิสูจน์จนเป็นที่ยอมรับแล้วมาใช้แก้ปัญหานั้น ๆ ได้ วิธีการที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา การนิเทศการศึกษาต้องอาศัยความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ กระบวนการ วิธีการหลาย ๆอย่างประกอบกันทั้งด้านจังหวะ เวลา กาลเทศะ สิ่งแวดล้อม ประกอบเข้าด้วยกันจึงทำให้การนิเทศประสบผลสำเร็จ การนิเทศการศึกษาจึงเป็นบทบาทที่สำคัญยิ่งที่ผู้บริหารสถานศึกษาต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องกัน
การนิเทศติดตามเป็นขั้นตอนหนึ่งและเป็นขั้นตอนสำคัญในการบริหารงานการนิเทศจะช่วยแก้ไขปรับปรุงส่วนที่บกพร่องให้มีการพัฒนา ผู้บริหารโรงเรียนเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับครู นักเรียนจึงย่อมทราบปัญหาต่าง ๆ ได้ดีกว่าคนภายนอก เพราะฉะนั้นการนิเทศภายในโรงเรียนจะสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของบุคลากรในโรงเรียนได้อย่างดี
ความหมายของการนิเทศ
ความหมายของการนิเทศ พิจารณาได้ทั้งตามความหมายของรูปศัพท์ และตามความหมาย ตามแนวทางของการบริหาร กล่าวคือ
ความหมายตามรูปศัพท์ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 ได้ให้ความหมายของ “การนิเทศ” ว่า หมายถึง การชี้แจง การแสดง การจำแนก
การนิเทศ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Supervision ซึ่งประกอบด้วย Super และ vision คำว่า Super หมายถึง ดีมาก วิเศษ vision หมายถึง การเห็น การมอง การดู พลังในการจินตนาการ ฉะนั้น Supervision จึงหมายถึง การมองเห็นที่ดีมาก เห็นโดยรอบ การดูจากที่สูงกว่า การมองจากเบื้องบน การมีโลกทรรศนะกว้างขวางกว่า
บุคคลที่ทำหน้าที่นิเทศ เรียกว่า Supervision ภารกิจหรือหน้าที่ของผู้นิเทศ คือ ให้การนิเทศ หรือ Supervise ได้แก่ การช่วยเหลือ แนะนำ ชี้แจง ปรับปรุง เพื่อช่วยให้บุคลากรภายใต้ความรับผิดชอบแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว หรือกำลังเผชิญอยู่ให้ลุล่วงไปด้วยดี รวมทั้งพัฒนางานที่บุคลากรกำลังปฏิบัติอยู่ ให้มีวิธีที่เหมาะสม มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น
นักการศึกษาหลายท่านทั้งนักการศึกษาของไทยและต่างประเทศให้ความหมายของการนิเทศการศึกษาไว้หลายแนวคิด ที่น่าสนใจและนำมาศึกษามีดังนี้
สมบัติ จันทรเกษม (2534) ให้ความหมายไว้ว่า การนิเทศ (supervision) แปลว่า การให้คำช่วยเหลือ แนะนำ หรือปรับปรุง สอดคล้องกับความหมายของ เมตต์ เมตต์การุณจิต (2543) ที่กล่าวว่าการนิเทศคือการให้คำปรึกษาแนะนำและให้ความช่วยเหลือต่อกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อปรับปรุงให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
สาย ภาณุรัตน์ (2517 : 25) กล่าวไว้ว่า การนิเทศการศึกษาคือการช่วยเหลือให้ครูเติบโต พึ่งตนเองได้ แล้วนำผู้ที่พึ่งตนเองได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคม นั่นคือการนิเทศเพื่อไม่ต้องนิเทศ
สงัด อุทรานันท์ (2529 : 7) ให้ความหมายไว้ว่า การนิเทศการศึกษาคือกระบวนการทำงานร่วมกับครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ได้มาซึ่งสัมฤทธิ์ผลสูงสุดในการเรียนของนักเรียน
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2540 : 1) นิยามความหมายไว้ว่าการนิเทศการศึกษาคือการที่ผู้นิเทศใช้กระบวนการ กระตุ้น ยั่วยุ ท้าทาย ริเริ่ม ร่วมคิด ร่วมทำ สนับสนุนให้มีการพัฒนาคุณภาพของนักเรียนตามความจำเป็นของการพัฒนาโดยผ่านครูและผู้บริหารโรงเรียน
ไวลส์ (Wiles. 1967 : 6) ให้ความเห็นไว้ว่า การนิเทศการศึกษาเป็นความช่วยเหลือในการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของ เอลสบรี (Elsbree. 1967 : 139) ที่ให้ความหมายของการนิเทศการศึกษาไว้ว่า การนิเทศการศึกษาคือกระบวนการปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น
จากความหมายของการนิเทศการศึกษาดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่า มีความแตกต่างกันและไม่มีข้อจำกัดที่แน่นอนตายตัว ขึ้นอยู่กับวิวัฒนาการของการศึกษา จุดมุ่งหมายและแนวทางการจัดการศึกษาในแต่ละยุคแต่ละสมัยแต่ก็สรุปได้ว่าการนิเทศการศึกษาคือกระบวนการในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างผู้นิเทศกับผู้รับการนิเทศเป็นความพยายามที่จะให้คำปรึกษาแนะนำ ช่วยเหลือ เกี่ยวกับการปรับปรุงการปฏิบัติงานด้านการเรียนการสอนของครูให้ดีขึ้น
ความมุ่งหมายของการนิเทศการศึกษา
ความมุ่งหมายของการนิเทศการศึกษา ตามทัศนะของนักการศึกษาแต่ละคนแตกต่างกันแต่โดยเนื้อหาสาระแล้วมีจุดมุ่งหมายไปในแนวเดียวกัน
ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ (2534 : 8) กล่าวถึงความมุ่งหมายของการนิเทศการศึกษาว่าเป็นการมุ่งปรับปรุงและพัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยมุ่งช่วยให้ครูได้พัฒนาความรู้ ความสามารถในการสอน ก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจแก่ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องในการทำงานร่วมกัน
สงัด อุทรานันท์ (2529 : 7-8) กล่าวไว้ว่า การนิเทศการศึกษามุ่งพัฒนาคนคือครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี มุ่งพัฒนางานการสอนของครูให้ดีขึ้นมุ่งสร้างความสัมพันธ์ในระหว่างผู้ร่วมงานและสร้างขวัญกำลังใจให้เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติงาน
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2533 ก : 7) ได้กำหนดความมุ่งหมายของการนิเทศไว้ว่าเพื่อช่วยให้ครูมองเห็นปัญหา สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเด็ก ช่วยให้บุคลากรในโรงเรียน เข้าใจจุดมุ่งหมายของการศึกษา และเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานแก่ครูและผู้เกี่ยวข้อง ช่วยพัฒนาครูในด้านความรู้ ความสามารถและทักษะในการสอน ช่วยให้เกิดการประสานงานกับผู้บริหารการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาในโรงเรียน ช่วยให้ครูใหม่เข้าใจงานในโรงเรียนและอาชีพครู รวมทั้งช่วยในด้านการประชาสัมพันธ์และสร้างครูให้มีลักษณะแห่งความเป็นผู้นำ
บริกส์และจัสท์แมน (Briggs and Justman. 1952 : 539) กล่าวว่า การนิเทศการศึกษามีความมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าทางอาชีพแก่ครู ส่งเสริมความเจริญงอกงามของครู ปรับปรุงการสอนของครูให้ดีขึ้น ส่งเสริม แนะนำและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชน
จากความมุ่งหมายของการนิเทศการศึกษาของนักการศึกษาที่นำมากล่าวถึงข้างต้น จะเห็นว่าการนิเทศการศึกษามุ่งที่จะพัฒนาครูผู้สอนเป็นหลัก เนื่องจากปรัชญาของการนิเทศการศึกษามีความเชื่อว่าครูเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในกระบวนการจัดการศึกษา เพราะครูเป็นผู้นำกระบวนการและองค์ประกอบอื่น มาใช้เพื่อให้เกิดผลการเรียนรู้แก่เด็ก (วิเวก สุขสวัสดิ์. 2537 : 13)
จึงสรุปได้ว่า การนิเทศการศึกษามีความมุ่งหมายเพื่อมุ่งช่วยเหลือ แนะนำ ปรับปรุงและส่งเสริมครูให้พัฒนาในด้านต่าง ๆ อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะเอาความสามารถของครูออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนและการพัฒนาคุณภาพการศึกษา อันจะส่งผลต่อคุณภาพการเรียนการสอน ความเจริญก้าวหน้าของนักเรียนและโรงเรียนในที่สุด
ความจำเป็นในการนิเทศภายในโรงเรียน
เหตุที่ต้องมีการนิเทศภายในโรงเรียน เกิดจากโรงเรียนประสบกับสภาพปัญหาและความต้องการที่จะพัฒนาการศึกษาให้ดีที่สุด แต่การนิเทศจากภายนอกโรงเรียนไม่อาจตอบสนองต่อการแก้ปัญหาตรงตามความต้องการได้จึงจำเป็นต้องใช้ระบบหรือวิธีการนิเทศภายใน
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2533) ได้กล่าวถึงความจำเป็นของการนิเทศภายในโรงเรียนว่า
1. ศึกษานิเทศก์มีจำนวนจำกัด นิเทศได้ไม่ทั่วถึง
2. สภาพปัญหาและความต้องการของโรงเรียนแต่ละแห่งแตกต่างกัน
3. บุคลากรในโรงเรียนปัจจุบันมีศักยภาพสูง การนิเทศภายในจะช่วยกระตุ้นครูได้ และพัฒนาศักยภาพของตนเองได้สูงสุด
4. คุณภาพการศึกษาเกิดจากความร่วมมือและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในโรงเรียน การนิเทศภายในจะส่งเสริมและเร่งระดมความร่วมมือได้ดีที่สุด
รูปแบบการนิเทศ เพื่อพัฒนาสถานศึกษา
หลักการนิเทศ มีดังนี้
1. การทำงานเป็นทีม ร่วมกับผู้บริหารโรงเรียน คณะครู และชุมชนในการทำงาน
2. การใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School Based Management) ให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการบริหารจัดการในการพัฒนาแบบองค์รวม สู่การประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา
3. พัฒนาโรงเรียนแบบมีส่วนร่วม (School Wide) มุ่งเน้นให้โรงเรียนพัฒนาอย่างเป็นระบบ
การนิเทศงานภายในโรงเรียน
งานวิชาการ
1. การสร้างความเข้าใจแก่ครูเรื่องการนำหลักสูตรไปใช้
1.1 การปรับปรุงเทคนิควิธีสอนของครู
1.2 การพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับท้องถิ่น
1.3 การจัดแผนการเรียน โครงการสอน ตารางสอน
1.4 การจัดครูเข้าสอน การจัดนักเรียนเข้าเรียน
1.5 การจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร
1.6 การจัดสื่อวัสดุ อุปกรณ์การสอน
1.7 การวัดผลและประเมินผลการเรียน
1.8 การปรับปรุงเครื่องมือและวิธีการวัดผลประเมินผล
2. งานที่เกี่ยวกับการพัฒนาครูในโรงเรียน
2.1 การปฐมนิเทศครูใหม่
2.2 การอบรมพัฒนาครูประจำการ เกี่ยวกับความรู้ความสามารถทางวิชาการ
2.3 การพัฒนาความรู้ความสามารถของครู ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานระบบกลุ่ม
3. งานเกี่ยวกับการสนับสนุนงานวิชาการและบริการอื่น ๆ
3.1 งานอาคารสถานที่
3.2 งานกิจการนักเรียน
3.3 งานธุรการและการเงิน
3.4 งานสัมพันธ์ชุมชน
กิจกรรรมสำหรับการนิเทศการศึกษา
ในการที่จะช่วยให้ผู้รับการนิเทศมีความรู้ ความสามรถในการที่จะปฏิบัติงานได้อ่ายงมีประสิทธิภาพจำเป็นที่ผู้นิเทศต้องจัดกิจกรรมการนิเทศให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ สำหรับกิจกรรมการนิเทศนำไปใช้ในการนิเทศภายในมี 8 วิธีด้วยกัน
1. การประชุมก่อนเปิดภาคเรียนและหัวข้อประชุมอย่างน้อยควรประกอบด้วย
1.1 การประเมินผลงานในปี/ภาคเรียนที่แล้วมา
1.2 ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานในปี/ ภาคเรียนที่แล้ว
1.3 โครงการที่จะดำเนินงานในปี/ภาคเรียนต่อไป
1.4 การเตรียมการเกี่ยวกับสื่อการเรียนการสอน
1.5 การจัดครูเข้าสอน
1.6 งานเร่งด่วนที่ต้องจัดทำ
2. การสังเกตการสอนในห้องเรียน
3. การศึกษาจากตำราเอกสาร
4. การให้คำปรึกษาหารือ
5. การสนทนาทางวิชาการ
6. การสาธิตการสอน
7. การพาครูไปศึกษาดูงาน
8. การบริการเอกสารทางวิชาการ
เทคนิควิธีในการนิเทศ
วิธีการนิเทศภายในโรงเรียนมีหลายวิธี เช่น การเยี่ยมชั้นเรียน การสาธิตการสอน การประชุมกลุ่ม การพบปะเป็นรายบุคคล การฝึกอบรม การผลิตเอกสารทางวิชาการ การค้นคว้าทดลอง การสังเกต ซึ่งผู้บริหารจะต้องมีความรู้ความสามารถในงานนิเทศเป็นอย่างดีโดยเฉพาะการมีมนุษย์สัมพันธ์อย่างเพียบพร้อมแล้วงานนิเทศย่อมประสบความสำเร็จ
ปัญหาที่สำคัญ คือ เมื่อมีการนิเทศไปแล้วมักไม่มีการปฏิบัติตาม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าผู้ทำการนิเทศแนะนำวิธีที่ปฏิบัติยาก จึงไม่เต็มใจปฏิบัติตาม และวิธีการแก้ปัญหา คือ การทำความเข้าใจในจุดประสงค์ของการนิเทศให้ครูได้ตระหนักถึงความสำคัญของการนิเทศ นอกจากนั้นผู้บริหารอาจมอบหมายให้หัวหน้าสายงาน หัวหน้าฝ่ายมีส่วนร่วมในการนิเทศเพราะโดยปกติแล้วครูจะใกล้ชิดกับหัวหน้าสายงานหัวหน้าฝ่าย มากกว่าผู้บริหารโรงเรียน บรรยากาศของความเป็นกันเองจะมีมากขึ้น
เอกสารอ้างอิง
[1] คณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. สำนักงาน. เอกสารประกอบการประชุมสัมมนา คณะกรรมการโรงเรียน. กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์คุรุสภา. 2540
[2] ……………… การประกันคุณภาพการศึกษา: การพัฒนาระบบประเมินตนเอง. กรุงเทพฯ . โรงพิมพ์คุรุสภา. 2542
[3] ชุมศักดิ์ อินทร์รักษ์,2531. การบริหารและการนิเทศภายใน ปัตตานี: ภาควิชาการบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
[4] ประชุม รอดประเสริฐ.การบริหารโครงการ.พิมพ์ครั้งที่ 5 . กรุงเทพ ฯ; เนติกุลการพิมพ์.2542.
[5] เมตต์ เมตต์การุณจิต.การมีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียนของคณะกรรมการการศึกษาประจำ โรงเรียนเทศบาลในจังหวัดนครราชสีมา. วิทยานิพนธ์ ศษ.ม. นนทบุรี. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2541
[6] สมหวัง พธิยานุวัฒน์. รวมบทความทางการประเมินโครงการ.พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2540
[7] เอกชัย กี่สุขพันธ์. การบริหารทักษะและการปฏิบัติ.กรุงเทพมหานคร.สุขภาพสวยใจ.2539
บทความนี้เขียนโดย : สงคราม มังคะละ : นักศึกษาปริญญาโท สาขาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
ที่มา : http://www.sobkroo.com/detail_room_main3.php?nid=755
แหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม : คลิกโหลด >> [E-book การนิเทศภายในโรงเรียน]