“เศรษฐกิจพอเพียง” คืออะไร?
คำนี้ เป็นคำที่เราได้ยินกันจนชินหู บ้างอ้างอิงกันอย่างชินปาก แต่อาจเป็นเพียงการ พูดแบบ”ปากอย่างใจอย่าง” หรือไม่เข้าใจนัยที่แท้จริง อะไรจะดีไปกว่าการอัญเชิญพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัส ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ มาเผยแพร่อีกครั้ง ให้ใคร่ครวญและเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า อะไรคือ “เศรษฐกิจพอเพียง”
“เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มซะด้วยซ้ำไป”
(พระบรมราโชวาท จากวารสารชัยพัฒนา ประจำเดือนสิงหาคม 2542)
“การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญสำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง อันนี้ก็เคยบอกว่า ความพอเพียงนี้ ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้น มันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้าน หรือในอำเภอ จะ ต้องมีความพอเพียง พอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก อย่างนี้ท่านนักเศรษฐกิจต่างๆ ก็มาบอกว่าล้าสมัย จริง อาจจะล้าสมัย คนอื่นเขาต้องการมีเศรษฐกิจที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน เรียกว่าเป็นเศรษฐกิจการค้า ไม่ใช่ เศรษฐกิจพอเพียง เลยรู้สึกว่าไม่หรูหรา แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่าผลิตให้พอเพียงได้”
(พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2540)
“ให้ปฏิบัติเพียงครึ่งเดียว คือไม่ต้องทั้งหมด หรือแม้จะเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ หมายความว่า ถ้าทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่ของประเทศก็จะพอ ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง และ ทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น ไม่ได้แปลว่าเศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ แต่เศษหนึ่งส่วนสี่ของการกระทำ”
(พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541)
“มีบางคนพูดบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียงนี้ไม่ถูก ทำไม่ได้ ไม่ดี ได้ยินคนเขาพูด แต่ ว่าส่วนใหญ่บอกว่าดี แต่พวกส่วนใหญ่ที่บอกว่าดีนี้ เข้าใจแค่ไหนก็ไม่ทราบ แต่ยังไงก็ตาม เศรษฐกิจพอเพียงนี้ ขอย้ำว่า เป็นการทั้งเศรษฐกิจ หรือความประพฤติ ที่ทำอะไรเพื่อ ให้เกิดผลโดยมีเหตุและผล คือ เกิดผลมันมาจากเหตุ ถ้าทำเหตุที่ดี ถ้าคิดให้ดีให้ผลที่ออกมา คือสิ่งที่ติดตามเหตุ การกระทำ ก็จะเป็นการกระทำที่ดี และผลของการกระทำนั้น ก็จะเป็น การกระทำที่ดี ดีแปลว่ามีประสิทธิผล ดีแปลว่ามีประโยชน์ ดีแปลว่าทำให้มีความสุข”
(พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2543)
“ทั้งหมดนี้ พูดอย่างนี้ก็คือเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเอง เศรษฐกิจพอเพียงที่ได้ ย้ำแล้วย้ำอีกแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า sufficiency economy ใครต่อใครก็ต่อว่า ว่าไม่มี sufficiency economy แต่ว่าเป็นคำใหม่ของเราก็ได้ ก็หมายความว่า ประหยัด แต่ไม่ใช่ ขี้เหนียว ทำอะไรด้วยความอะลุ้มอล่วยกัน ทำอะไรด้วยเหตุและผล จะเป็นเศรษฐกิจพอเพียง แล้วทุกคนจะมีความสุข”
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2543)
“ความสะดวกจะสามารถ สร้างอะไรได้มาก นี่คือเศรษฐกิจพอเพียงสำคัญว่าต้อง รู้จักขั้นตอน ถ้านึกจะทำอะไรให้เร็วเกินไปไม่พอเพียง ถ้าไม่เร็ว ช้าไปก็ไม่พอเพียง ต้องให้ รู้จักก้าวหน้า โดยไม่ทำให้คนเดือดร้อน อันนี้เศรษฐกิจพอเพียงคงได้ศึกษามาแล้ว เราพูดมาแล้ว 10 ปี ต้องปฏิบัติด้วย”
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2546)
จะเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย โดยชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน “ทางสายกลาง” โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ผ่านการทดลอง และทรงตรากตรำพระวรกายให้แก่พวกเรามามาก และมีประจักษ์พยานในวาระที่ประมุขจากแทบทุกชาติในโลกที่ได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ เดินทางมาร่วมสรรเสริญพระบารมี พระองค์ท่าน เมื่อเดือนมิถุนายน 2549 ที่ผ่านมาเช่นนี้แล้ว เราจึงควรยึดถือแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง แนวทางวิทยาศาสตร์นี้ ในการดำรงชีวิตและช่วยสร้างให้ไทยเป็นสังคมที่มีเหตุผล ช่วยกันคิดและต่อยอดในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไป
ข้อมูลจาก : คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมส่งเสริมการเกษตร : http://www.doae.go.th/report/SE/html/03.htm
ภาพประกอบจาก : http://www.oknation.net/blog/home/user_data/file_data/201310/04/364572af5.jpg