KruSmart : ครูผู้สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ : ร่วมกันก้าวหน้า ทำการศึกษาคุณภาพ

ความเครียดกับการเรียนรู้ คอร์ติซอลในน้ำลายกับความเครียด ความเครียดสูงส่งผลให้การเรียนรู้บกพร่อง

การเรียนรู้ระดับสูงและซับซ้อน นักเรียนจะเรียนรู้ได้ดีในบรรยากาศที่ยั่วยุและท้าทาย แต่ถ้ามีบรรยากาศของความเครียดและความกดดันมากๆ จะทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้

อาการของความเครียด
ความเครียดเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีการใช้พลังงานมาก และมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางสรีรวิทยาของร่างกาย  เมื่อมีตัวเร่งความเครียด (stressor) กระตุ้น ก็จะเกิดปฏิกิริยาทางร่างกายเพื่อปรับตัว  3 ขั้น  ได้แก่
          1) อาการบอกเหตุ (alarm reaction stage) จะเกิดขึ้นเฉพาะแห่งเนื่องจากตัวเร่งความเครียด  ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจะเกิดโดยผ่านระบบประสาทและต่อมไม่มีท่อ เช่น pituitary  จะหลั่งฮอร์โมนออกมาทำให้ร่างกายสามารถต่อต้านต่อตัวเร่งความเครียด และซ่อมแซมร่างกายให้อยู่ในภาวะสมดุล
          2)  อาการต่อต้าน  (resistance  stage) ในระหว่างช่วงนี้  การเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาจะเกิดขึ้นเพื่อรักษาสภาพต่อต้านของสิ่งมีชีวิตต่อตัวเร่งความเครียด ในบางสถานการณ์ทำให้เกิดระดับการสมดุลทางสรีรวิทยาเกิดขึ้น
          3) ขั้นหยุดทำงาน  (exhaustion  stage) ถ้าอยู่ภายใต้เหตุการณ์ที่มีความเครียดนานๆ ความต้านทานไม่สามารถจะทำให้ร่างกายคงรักษาสภาพคงที่ไว้ได้  และความเครียดยังคงมีอยู่ต่อไป อาจถึงตายได้เพราะอวัยวะหยุดการทำงาน

ตัวเร่งความเครียดต่างๆ มีผลต่ออารมณ์  ส่งผลต่อการทำงานร่วมกันระหว่างระบบประสาท และระบบต่อมไร้ท่อ โดยจะมีเซลล์ประสาทรับกระแสความรู้สึกส่งไปยังสมอง  ส่วน hypothalamus  ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมน  corticotrophin  releasing hormone (CRH) ผ่านเข้าไปในเส้นเลือด ซึ่งไปมีผลต่อต่อมใต้สมอง pituitary  ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนที่เรียกว่า adrencorticotrophic  hormone (ACTH) ที่ควบคุมการทำงานของต่อมหมวกไตส่วนคอร์เท็กซ์ (adrenal cortex) เป็นผลทำให้กลูโคครอติคอยด์ (glucocorticoid) ชนิดคอร์ติซอลฮอร์โมน หลั่งออกมาเข้าสู่เลือดและน้ำลาย ทั้งนี้ คอร์ติซอลฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจะยับยั้งการดูดซึมโปรตีน ทำให้เซลล์ที่เกิดใหม่ขาดวัตถุดิบในการสร้างความเจริญเติบโตและพัฒนาการของเซลล์ ส่งผลให้เซลล์ประสาทตาย ทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้และความจำลดลง

คอร์ติซอลในน้ำลาย กับ ความเครียด
การตอบสนองต่อความเครียดมีทั้งทางชีวภาพหรือกายภาพและการหลั่งฮอร์โมน ซึ่งเป็นการปรับสภาพสมดุลของร่างกาย และเป็นการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทางสังคมแบบใหม่ คอร์ติซอลฮอร์โมน  เป็น glucocorticoid  ตัวหนึ่งที่มีผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกายในหลายระบบหน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่งของ glucocorticoid คือ การสลายกรดอะมิโนและไขมันจากเซลล์เพื่อสร้างพลังงานหรือสังเคราะห์สารประกอบใหม่ขึ้นมา การทำหน้าที่เช่นนี้จะเป็นตัวกลางที่สำคัญในการตอบสนองของร่างกายทั้งทางด้านสรีรวิทยาและด้านจิตวิทยาต่อการจัดการภาวะความเครียดจากการกระตุ้น โดย stressors  ต่างๆ นอกจากนี้ glucocorticoid ยังมีผลต่อการอักเสบของเนื้อเยื่อจากการบาดเจ็บมีผลกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ในระบบประสาทส่วนกลางนั้น พบว่า glucocorticoid มีความสำคัญในการทำงานของสมองหลายๆ กิจกรรม การศึกษาในปัจจุบันพบว่า glucocorticoid มีความสำคัญต่อการทำงานของสมองในส่วนของการรับรู้ (prefrontal  cortisol cognitive function) โดยเฉพาะในส่วนของความทรงจำ (memory) นอกจากนี้ยังมีส่วนในการตอบสนองในด้านพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ในหลายๆ กิจกรรม เช่น การนอน หลับ ภาวะการแสดงออกของอารมณ์ และการรับรู้ความรู้สึกต่างๆ เป็นต้น  

นอกจากนี้ คอร์ติซอล ยังเป็นตัวชี้วัดในการศึกษาด้านจิตใจในมนุษย์ ซึ่งการตรวจวัดระดับของคอร์ติซอล ในน้ำลาย และพลาสมาจะสามารถบ่งบอกระดับความเครียด ภาวะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยของโรคบางอย่าง เช่น โรค Cushing’s disease  จะมีผลทำให้ระดับคอร์ติซอล สูงขึ้นกว่าปกติ โดยพบว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีปัญหาทางด้านจิตใจและภาวะเครียดร่วมด้วย

การวิจัยเรื่องความเครียดกับการเรียนรู้
จากการศึกษาของ Kirschbaum and Heehammer (1994) พบว่า ภาวะความเครียดส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในสองส่วนคือ การกระตุ้นระบบแกนไฮโปธาลามัส (HPA)  และการกระตุ้นผ่านทางระบบประสาทอัตโนวัติ (sympathetic activity)  

การกระตุ้นทำให้มีการคัดหลั่งฮอร์โมนความเครียด คือ คอร์ติซอลฮอร์โมน (cortisol  hormone)  ออกมาในเลือดและน้ำลายมากกว่าปกติ และการเปลี่ยนแปลงของระบบการทำงานของแกนไฮโปธาลามัส (HPA) ที่มีสาเหตุมาจากภาวะเครียดซึ่งจะส่งผลต่อระดับปริมาณคอร์ติซอลฮอร์โมนในน้ำลายเพิ่มสูงขึ้น และ Hellhammer et al. (2009) พบว่า ระดับความเครียดมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับระดับปริมาณคอร์ติซอลฮอร์โมน ที่หลั่งออกมาทั้งในเลือดและในน้ำลาย นอกจากนี้ Vedhara et al., (2000) ยังพบว่า ปริมาณคอร์ติซอลที่เพิ่มขึ้นทำให้ความสามารถในการเรียนรู้  จดจำ และสมาธิลดลง

ดังนั้น การศึกษาผลการเรียนรู้และระดับความเครียดของนักเรียนที่ได้รับจากการจัดการเรียนรู้  โดยการใช้ปริมาณฮอร์โมนคอร์ติซอลในน้ำลาย และการรับรู้ความเครียดด้วยตนเองเป็นดัชนีชี้วัดภาวะความเครียดของนักเรียนซึ่งเป็นวิธีการวัดที่ไม่เป็นอันตราย สะดวกและมีประสิทธิภาพในการชี้วัดภาวะเครียดที่ทางการแพทย์ให้การยอมรับ เพื่อเป็นการยืนยันประสิทธิภาพในการจัดการเรียนรู้ อันจะนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

เอกสารอ้างอิง

1. ภาสินี  มุกดาวงษ์.  ความเครียดและวิธีการเผชิญความเครียดของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย.  วิทยานิพนธ์ปริญญาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต   สาขาวิชาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช  บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยขอนแก่น; 2547.
2. อารี  สัณหฉวี.  ทฤษฎีการเรียนรู้ของสมอง สำหรับพ่อแม่ ครู และผู้บริหาร.  กรุงเทพ: เบรน-เบส บุ๊ค;2550.
3. Hellhammer DH, Wu¨st S, Kudielka BM.  Salivary cortisol as a biomarker in stress research.  Psychoneuroendocrinology 2009;34:163-171.
4. Kirachbaum C, Hellhammer DH.  Saliva  cortisol  in  psychological stress  and  risk  for hypertension.  Psychoneuroendocrinology 1994;19:313-333.
5. Vedhara K, Hyde J, Gilchrist ID, Tytherleigh, M,  Plummer S.  Acute stress, memory, attention and cortisol.  Biological Psychology 2000; 25:535-549.

ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 13 หน้า 10-11 เขียนโดย ครูนันทรัตน์   แก้วไกรษร สควค. รุ่น 7 ครู คศ.1 ร.ร.โนนสะอาดชุมแสงวิทยา จ.อุดรธานี
ภาพประกอบจาก
http://ohonline.in.th/home/wp-content/uploads/2012/06/การเรียนรู้บกพร่อง.png

Exit mobile version