ผลงานครูดีเด่นสะเต็มศึกษา [ดาราศาสตร์และอวกาศ] การโคจรของวัตถุท้องฟ้า เห็นด้วยตา เชื่อมด้วยสะเต็ม

stem-sundialวันนี้ พามารู้จักครูศักดิ์อนันต์ อนันตสุข จากโรงเรียนนารายณ์คำผงวิทยา อำเภอโนนนารายณ์ จังหวัดสุรินทร์ ผลผลิตจากโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือ ครู สควค. รุ่น 6 สาขาฟิสิกส์ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)ซึ่งปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนตาเบาวิทยา อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์

krustem-fest1ผลงานที่ได้รับรางวัล เป็นการจัดการเรียนรู้ เรื่องการโคจรของวัตถุท้องฟ้า ตามแนวคิดเชิงสังคมวัฒนธรรม ที่นำเอาแนวทางสะเต็มศึกษาเข้าไปบูรณาการจัดการเรียนรู้ กิจกรรมเกี่ยวกับการเรียนรู้เรื่อง การโคจรของวัตถุท้องฟ้า มีอยู่ 5 หน่วยด้วยกัน ได้จำแนกเป็น 5 หน่วยการเรียนรู้ ก็คือ การเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ในรอบ 1 วัน การเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ในรอบ 1 ปี การเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ การเคลื่อนที่ของดวงดาว และระบบสุริยะ

ในแต่ละหน่วยนักเรียนจะได้เรียนคอนเซ็ปต์ทางวิทยาศาสตร์ที่บูรณาการความรู้ทางคณิตศาสตร์ และนำเทคโนโลยี ก็คือ ของโปรแกรมสเตลลาเรียม (Stellarium) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ท้องฟ้าจำลองเสมือน รวมถึงโปรแกรมทางดาราศาสตร์อื่นๆ แอพพลิเคชั่นต่างๆ มาช่วยสนับสนุนการเรียนรู้คอนเซ็ปต์เหล่านั้น

จากนั้นเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สร้างผลผลิตของความเข้าใจ นั่นคือ ได้สร้างสรรค์ชิ้นงาน โดยการกำหนดสถานการณ์ใหม่ขึ้นมา แล้วให้เด็กได้ใช้ความรู้ที่เรียนมา ไม่ว่าจะเป็น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและกระบวนการทางวิศวกรรมมาออกแบบชิ้นงานแล้วนำเสนอต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานชิ้นนั้นๆ

krustem-fest2ตัวอย่างกิจกรรมเช่น เรื่อง การโคจรของดวงอาทิตย์ในรอบ 1 ปี ที่ถ้าเราสังเกตบนโลก เราก็จะพบว่า ดวงอาทิตย์ในรอบปีจะขึ้นไม่ตรงตำแหน่งเดิม นักเรียนก็จะใช้โปรแกรมสเตลลาเรียม ดูเหตุการณ์จำลองการขึ้นตกของดวงอาทิตย์ในรอบ 1 ปี ก็จะได้เห็นว่ามันเป็นไปอย่างนั้นจริงๆ ก็ตำแหน่งมันก็จะเคลื่อนไปทางเหนือ แล้วก็เลื่อนไปทางใต้ เมื่อนักเรียนเข้าใจคอนเซปต์ตรงนี้ ก็จะได้รู้ว่าดวงอาทิตย์ขึ้นไปเหนือกี่องศาลงไปใต้กี่องศาเมื่อเทียบกับทิศตะวันออก

จากนั้นชิ้นงานที่นักเรียนจะต้องสร้าง ครูมีสถานการณ์ให้ว่า ถ้าเราจะสร้างสิ่งปลูกสร้างให้มีความสัมพันธ์กับการขึ้นตกของดวงอาทิตย์ และให้มีลักษณะที่เป็นที่สุริยะปฏิทิน คือสามารถบอกฤดูกาลได้เหมือนที่เหตุการณ์ที่ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงประตู 15 ช่องในปราสาทเขาพนมรุ้งอะไรลักษณะนั้น นักเรียนก็จะสร้างสิ่งปลูกสร้างบางอย่างขึ้นมา เป็นโมเดลที่จะสร้างในอำเภอของเรา ให้มีการวางตำแหน่งของสิ่งปลูกสร้างต่างๆ สัมพันธ์กับทิศและการขึ้นตกของดวงอาทิตย์ในวันสำคัญที่เขากำหนดเอาไว้

แนวทางการจัดการเรียนการสอนดาราศาสตร์ ของครูท่านนี้มีอยู่ 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย
ขั้นตอนที่ 1 ให้นักเรียนได้สังเกตปรากฏการณ์ธรรมชาติ การขึ้นตกของในวัตถุท้องฟ้า ด้วยตาเปล่าของนักเรียน เหมือนกับที่บรรพบุรุษของเราสมัยที่ยังไม่มีอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์มาช่วย

ขั้นตอนที่ 2 หลังจากที่นักเรียนได้มีประสบการณ์พวกนี้แล้ว เด็กก็จะต้องเข้าใจว่า สิ่งที่เห็นด้วยตา กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในจักรวาล ในธรรมชาตินั้น อาจมีข้อเท็จจริงที่ต่างกัน เราเห็นกับตาว่าดวงอาทิตย์ขึ้น แต่จริงๆแล้วโลกเราตั้งหากที่หมุน ฉะนั้น การที่จะเข้าใจคอนเซปต์นี้ ต้องใช้โปรแกรมมา เชื่อมโยงความสัมพันธ์จากสิ่งที่เห็นด้วยตากับสิ่งที่เป็นจริงในธรรมชาติ ช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

ขั้นตอนที่ 3 นักเรียนจะต้องมีประสบการณ์ในการทำวิจัยทางดาราศาสตร์ เหมือนกับที่นักดาราศาสตร์ในสมัยปัจจุบันได้ทำกัน ซึ่งนักเรียนจะมีโอกาสทำโครงงานทางดาราศาสตร์ขั้นพื้นฐาน

ประโยชน์ ก็คือ นักเรียนได้เห็นความเชื่อมโยง เข้าใจดาราศาสตร์มากขึ้น มีเด็กส่วนหนึ่งให้ความสนใจเข้ามาทำวิจัยดาราศาสตร์พื้นฐานมากขึ้น นักเรียนมีโอกาสในการนำเสนอผลงานในเวทีดาราศาสตร์สำหรับเยาวชนได้ใช้โทรศัพท์มือถือมาเรียนรู้ดาราศาสตร์ได้อย่างสนุกและทุกวันนี้มีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่สนใจที่จะทำวิจัยลักษณะแบบนี้เหมือนที่รุ่นพี่เคยทำได้เพิ่มขึ้นครับ

krustem-fest3ครูศักดิ์อนันต์ได้นำแผนการสอนและกิจกรรมตามแนวทางสะเต็มศึกษา ออนไลน์ไว้ที่เว็บไซต์ดาราศาสตร์ศึกษา http://www.astroeducation.com เอาไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทุกวันนี้มีครูได้เข้าไปดาวน์โหลดและใช้แผนการสอนกิจกรรมคลิปต่างๆอินโฟกราฟิกต่างๆที่ได้ทำขึ้นเกี่ยวกับการสื่อสารทางดาราศาสตร์สื่อสารความรู้ทางดาราศาสตร์

“ผมอยากจะขอเชิญชวนครูทุกท่าน ได้หันมาปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน โดยบูรณาการความรู้ทางสะเต็ม ในการจัดการเรียนรู้ให้มากขึ้น เพราะความรู้เหล่านี้ สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริงได้ รวมถึงการสร้างผลผลิตหรือนวัตกรรมใหม่ ในโลกในยุคศตวรรษที่ 21 ของเราได้”

ที่มา : ข้อมูลและภาพประกอบจาก เว็บไซต์ สสวท. 14 กันยายน 2559 >> [เห็นด้วยตา เชื่อมด้วยสะเต็ม]



Leave a Comment