สัปดาห์ที่ 3 ที่ Curtin University เป็นสัปดาห์ STEM เลยก็ว่าได้
เริ่มจาก colloquium ประจำสัปดาห์ ได้เชิญ Director ของ STEM Teacher Enrichment Academy จาก University of Sydney มาบรรยายในหัวข้อ STEM Education and Research at the University of Sydney โดยเป้าหมายหลักของ STEM Education คือ การสร้าง STEM culture ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วม ต้องส่งเสริม STEM literacy ให้กับทุกๆคน มีพื้นที่ใน STEM โดย หลักสูตรแบบบูรณาการนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีพูดถึงตั้งแต่ยุคของ Dewey, Bruner และในออสเตรเลียก็พูดถึงการบรูณาการตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ส่วนงานที่เขานำมาเล่าให้ฟังนั้นเป็นงานเกี่ยวกับการพัฒนาครูในการสอน STEM โดยมีความเชื่อว่าครูคือผู้ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเริ่มแรกทำกับเฉพาะระดับประถมศึกษา แต่ตอนนี้ครอบคลุมถึงระดับมัธยมศึกษาแล้ว โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ExxonMobil Teacher Academy ของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เน้นการพัฒนาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และ คณิตศาสตร์ โดย STEM Teacher Enrichment Academy มีแนวทางการทำงานที่น่าสนใจคือ พร้อมที่จะเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงเสมอโดยอยู่บนฐานของการวิจัย และการทำงานของหน่วยงานนี้ไม่ได้มุ่งแต่การทำวิจัย แต่เป้าหมายคือการทำงานร่วมกับครู แนวคิดของหน่วยงานนี้จะมอง STEM ทั้งที่เป็นแบบ separate curriculum และ integrated curriculum
ณ ปัจจุบัน หน่วยงานนี้เน้นการทำงานกับทั้งโรงเรียนไม่ใช่ครูคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเป็นการผลักดันให้เป็นโครงการที่มีปรากฏในแผนของทางโรงเรียน โดยโรงเรียนจะต้องวิเคราะห์ บริบท STEM ในโรงเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนจะต้องมีส่วนร่วม โดยจะให้ทางโรงเรียนส่งรายชื่อครูที่ต้องการพัฒนาวิชาละ 2 คน คือ ครูวิทยาศาสตร์ 2 คน ครูคณิตศาสตร์ 2 คน และครูเทคโนโลยี 2 คน (ที่ออสเตรเลีย มีวิชาเทคโนโลยี) จาก 12 โรงเรียน เรียกว่าเป็น STEM Academy program team โดยมุ่งเน้นให้ครูทั้ง 3 วิชาทำงานร่วมกัน โดยจะต้องมาทำความเข้าใจกันว่า STEM ของแต่ละศาสตร์นั้นคืออะไร บางทักษะแต่ละศาสตร์ก็มีความแตกต่างกัน เช่น ทักษะการแก้ปัญหา ของวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีก็มีความแตกต่างกัน ทุกวิชาต้องมาคุยกันให้เข้าใจ แต่ละโรงเรียนจะต้องมี project manager ประจำโรงเรียน มีแหล่งเรียนรู้หรือตัวอย่างกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้แก่ครู และมีนักวิจัยที่เป็น Postdoctoral students และช่วยเหลือครูเหล่านี้จะได้รับการช่วยเหลือโดยหน่วยงานในเรื่องการจัดการเรียนรู้ STEM โดยมุ่งเน้นที่จะสร้าง STEM literate society สอนเด็ก ๆ ทุกคนให้แก้ปัญหาจริง ๆ ที่เกี่ยวข้องในชีวิต มี STEM literacy โดยโครงการเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน หรือมหาวิทยาลัย หรือ NGO ที่เป็น partnership ที่น่าสนใจคือพัฒนาเด็ก ๆ ทุกคนไม่ใช่แค่เด็กที่เรียนสายวิทย์ หรือที่จะไปประกอบอาชีพ STEM ในอนาคต การที่ครูมาเข้าโครงการนี้จะได้สะสมชั่วโมงเพื่อใช้ในการเลื่อนตำแหน่งได้ 40 ชั่วโมง สิ่งที่น่าสนใจคือ ทางหน่วยงานนี้จะเน้นว่าการไปช่วยครู ไม่ใช่การไปเพิ่มภาระให้กับครู หรือต้องทำอะไรเพิ่ม เช่นโครงการนี้ ครูจะได้รับการพัฒนา 3 ช่วง โดยก่อนเริ่มโครงการครูทุกคนจะต้องได้รับการอบรม STEM leadership เพื่อให้ทราบถึงบทบาทตนเองในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการสอน STEM โดยโครงการมี 3 ช่วงคือ
1. เดือนพฤศจิกายน workshop 3 วัน
2. เดือนธันวาคม ถึง พฤษภาคม ทำการสอน STEM โดยคนจากหน่วยงานนี้เป็น mentor ลงไปที่โรงเรียน
3. เดือนมิถุนายน workshop 2 วันเพื่อนำเสนอผลการสอน STEM ความก้าวหน้า
แนวทางของการบูรณาการแต่ละวิชามีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการที่ครู แต่ละวิชามาวางแผนการสอนร่วมกันว่าจะสอนในเรื่องอะไร แล้วกลับไปสอนในรายวิชาของตนเอง หรือเป็นแบบที่ครูแต่ละวิชาสละคาบของตัวเองวิชาละ 1 คาบต่อสัปดาห์เพื่อมาเป็นวิชา STEM แล้วมาสอนร่วมกัน หรือ การจัดประกวด นิทรรศการต่างๆ เช่นประกวด Robot หรือโครงงานซึ่งมีมากมาย แต่ก็มีคำถามว่าหากจัดประกวดเพื่อแค่ให้เด็กบางคนมีส่วนร่วม แล้วเด็ก ๆ ที่เหลือทำอะไร ดังนั้น การจัดกิจกรรมพิเศษเช่นนี้จำเป็นต้องคิดถึงจุดประสงค์ในการจัดเป็นสำคัญ และที่สำคัญในการสอนหรือจัดกิจกรรม STEM คือ STEM ไม่ใช่แค่ activities based คือเน้นแค่ตัวกิจกรรม แต่ครูทุกคนควรระลึกถึงเป้าหมายของ STEM ให้ขึ้นใจ จากผลการทำงานของ STEM Teacher Enrichment Academy ตั้งแต่ปี 2014 ถึงปัจจุบัน ทางหน่วยงานพบว่า นักเรียนชอบกิจกรรม STEM และมีความสนใจในอาชีพที่เป็น STEM career มากขึ้น ส่วนครูชอบที่จะมี mentor เข้าไปช่วยเหลือในการจัดการเรียนรู้ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ครูบางคนมีปัญหาในเรื่องเนื้อหาวิชา
อีกสิ่งที่น่าสนใจในการสัมมนาครั้งนี้คือ คำถามจากผู้ฟัง เช่นมีผู้ฟังถามว่า อะไรคือความแตกต่างของ STEM ที่ Sydney และ Perth วิทยากรตอบว่าคงเป็นจุดเน้น เพราะที่ Sydney จะเน้นคณิตศาสตร์เป็นหลัก แต่ที่ Perth ที่เน้น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่วนอีกคำถามหนึ่งคือ ในเมื่อครูยังคงกังวลกับ National test การสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ใน ม.ปลายก็ยังเป็นแบบเดิม ควรทำอย่างไร วิทยากรตอบว่าเราก็ต้องคำนึงว่าเด็ก ๆ ของเราไม่ใช่มีเป้าหมายแค่การสอบ แต่เป้าหมายคือ การดำรงชีวิตในโลกปัจจุบัน ดังนั้น ครูควรต้องหาจุดที่เหมาะสมในตรงนี้ แต่ก็ยอมรับว่าการจัดการเรียนรู้ STEM ใน ม.ปลายเป็นเรื่องที่ท้าทาย วิทยากรปิดท้ายด้วยว่า การสอน STEM ไม่เกี่ยวกับ furniture โรงเรียนไม่จำเป็นต้องมีการสร้างตึก STEM ทำห้อง STEM แต่ควรทำให้บริบทที่เป็นอยู่
สัปดาห์นี้ในวันที่ 28-29 กันยายน มีการจัด conference ระดับรัฐชื่อว่า STEM Education conference ที่ Curtin University ผู้เข้าร่วม conference เป็นทั้งครู ระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน อาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งจากคณะศึกษาศาสตร์และคณะอื่น ๆ เช่น คณะวิทยาศาสตร์ งานนี้มีความน่าสนใจคือ Keynote speaker ในงานมีทั้งที่เป็นนักการศึกษาด้าน STEM ตัวแทนจากภาคเอกชนที่เป็นบริษัทหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ STEM และครูจากโรงเรียน สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการ conference ในครั้งนี้คือ
1. STEM ถือเป็นประเด็นสาธารณะที่ต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน อุตสาหกรรม
2. ประเด็นที่สำคัญในการพัฒนา STEM ในประเทศออสเตรเลียคือ มุ่งสร้าง STEM culture/ การพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ / การส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้แบบ project based learning โดยอยู่บนประเด็นในชีวิตจริง / การส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะที่สามารถเรียนรู้ข้ามศาสตร์ได้ / การพัฒนา digital skills ให้นักเรียน ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่จะไม่สอนให้นักเรียนเรียนรู้อย่างกว้าง / ฝึกทักษะที่จำเป็นในโลกยุคใหม่ เพราะในปัจจุบันอาชีพบางอาชีพอาจจะหายไป เพราะใช้ทักษะในยุคเก่าซึ่งไม่ได้มีประโยชน์ในปัจจุบัน
3. คำถามที่สำคัญจาก The Chief Scientist of Western Australia ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นประธานของชุมชนนักวิทยาศาสตร์แห่งรัฐ คือ ถ้า STEM เป็นวิธีการที่ดี STEM skills เช่นทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการคิดวิจารณญาณ มีความสำคัญในการดำรงชีวิตในโลกปัจจุบัน ดังนั้น สำคัญหรือไม่ที่ต้องสอนให้กับเด็กทุกคน
4. สำหรับตัวแทนจากภาคเอกชนที่มาพูดในงานนี้ไม่ได้มาเพื่อโปรโมทสินค้าตนเอง เพราะแต่ละบริษัทจะนำเสนอสิ่งที่อยู่บนฐานการวิจัย โดยคนที่มาพูดมีทั้งผู้บริหารบริษัท หรือนักวิจัยที่มีความรู้เกี่ยวกับ STEM และการศึกษา ซึ่งสังเกตได้ว่าทุกบริษัทมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ จะมีหน่วยงานย่อยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษา เรียกว่าเป็น STEM Education partnership เช่น การให้ทุนให้กับโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยในการทำโครงการ สร้างเทคโนโลยี หรือทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานของบริษัท
5. ตัวแทนบริษัทหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่ แสดงความเห็นว่า STEM เกี่ยวกับมนุษย์ ไม่ใช่เทคโนโลยี แต่การที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อการจ้างแรงงานและลักษณะของงาน STEM จึงเกี่ยวข้องกับการเตรียมคนเพื่อทำงานสำหรับอนาคต
6. เมื่อถามถึงการจ้างงาน ว่าแต่ละบริษัทต้องการคนแบบใด ทุกบริษัทจะเน้นที่ soft skills เช่น ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะการจัดการ ทักษะการสื่อสาร การยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลาย มี EQ เพราะเชื่อว่าคนที่มาสมัครงานที่เก่งในเนื้อหาวิชานั้นมีมากมาย แต่คนที่จะสามารถทำงานในบริษัทในปัจจุบันที่เป็นการทำงานที่หลาย ๆ ศาสตร์ต้องมาทำงานร่วมกัน จึงจำเป็นมากที่คนในยุคใหม่จะต้องมีความสามารถในการทำงานกับผู้อื่นและเรียนรู้ข้ามศาสตร์ได้ เช่น บางบริษัทกล่าวว่า งานของบริษัทตนตอนนี้ไม่ได้ทำแยก ๆ เป็นฝ่าย ๆ แต่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน เช่น นักธรณีฟิสิกส์ ต้องทำงานกับนักธรณีวิทยา นักสรีรวิทยา เป็นต้น
7. ที่ออสเตรเลียมีการส่งเสริมโครงการเกี่ยวกับความเท่าเทียมจำนวนมาก เช่น การส่งเสริม Woman in STEM หรือการส่งเสริม STEM ในบริบทที่แตกต่างเช่นนอกเมือง ในเมือง หรือการส่งเสริม STEM ในระดับอายุที่แตกต่าง ซึ่งจะเห็นว่าหลายบริษัทต่างก็มีโครงการเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้
8. การรู้ STEM ถือเป็นโอกาสในการทำธุรกิจและประกอบอาชีพ
9. ตัวอย่างบริษัทหนึ่งที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย การทหาร และเทคโนโลยีอวกาศ กล่าวว่าบริษัทของตนเป็น partnership กับมหาวิทยาลัย 30 แห่งทั่วออสเตรเลีย และโรงเรียนในระดับประถมศึกษา โดยได้สนับสนุนโครงการพัฒนา robot โดยบริษัทกล่าวว่าผลที่ได้นั้นไม่ใช่ robot แต่คืออยากให้นักเรียนมีทักษะทาง STEM จากการสร้าง robot และเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ STEM
10. บริษัทต่าง ๆ ต่างเห็นตรงกันว่าจำเป็นจะต้องให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเพราะมันก้าวหน้าไปทุกวัน เช่น ตอนนี้หลาย ๆ บริษัทกำลังพัฒนา Natural language คือ เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่เข้าใจภาษามนุษย์ เช่น Siri ของ Apple, Alexa, Willow เป็นต้น คนในโลกยุคใหม่จึงต้องอยู่กับเทคโนโลยี เข้าใจเทคโนโลยี มีคำพูดที่น่าสนใจมากจากบริษัทพัฒนา Robot คือ “Technology is young and rapidly developing”
11. ส่วนทางด้านนักการศึกษาก็มีประเด็นที่น่าสนใจหลายคน เช่น โครงการ wonder of science จาก Queensland ไม่ได้เน้นแค่ science แต่เน้น STEM โดยเป็นโครงการที่มุ่งช่วยครู โดยเน้นการไม่เพิ่มภาระงานให้ครู ให้ครูดำเนินการสอนตามปกติ เพียงแต่ให้เข้าใจเป้าหมาย STEM และมีการ workshop และกำกับติดตามช่วยเหลือเป็นระยะ นอกจากนั้นยังมี postdoctoral students จากสาขาต่างๆ เช่น ดาราศาสตร์ สิ่งแวดล้อม เรียกว่าเป็น STEM ambassador เข้าไปสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน ส่งเสริมให้นักเรียนสร้างชิ้นงานและนำเสนอใน reginal conference และ state conference ตามลำดับ โดย conference ของนักเรียนน่ารักมาก ไม่ได้จัดยิ่งใหญ่ เพียงแค่จัดในโรงยิม นักเรียนที่มาประกวดทำการนำเสนอง่าย ๆ ใส่กระดาษแผ่นใหญ่ บางกลุ่มอาจมีการแต่งกายหรือการแสดงประกอบ แต่ไม่ได้เน้นความหรูหราเลย โดยเด็ก ๆ ทุกคนจะได้มีส่วนร่วม คือ เด็กที่ไม่ได้ประกวดก็จะมี workshop ทาง STEM ให้เข้า บรรยากาศของงานดูสนุก และเด็ก ๆ ต่างก็ภูมิใจ
12. นักการศึกษาทุกท่านจะเน้นว่า นักเรียนจะต้องมีทั้ง general capabilities คือความสามารถทั่วไป และ cross-curriculum capabilities คือความสามารถที่ข้ามศาสตร์ เช่นในออสเตรเลียตอนนี้ประเด็นที่เป็น cross-curriculum ที่เน้นคือ sustainability
13. ประเด็นการวิจัยเกี่ยวกับ STEM นักการศึกษาเน้นย้ำว่าควรทำในโรงเรียน คือ
>> a. สิ่งที่สำคัญก่อนที่จะบอกว่า STEM นั้นดี คือ ต้องมีหลักฐานว่าดีอย่างไร
>> b. การบูรณาการ S T E M จะต้องให้ความเคารพลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละศาสตร์ด้วย
>> c. การจะทำวิจัยเกี่ยวกับ STEM สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ การพัฒนานักเรียนแต่ละคนใน STEM context
>> d. การจะกล่าวถึง STEM และเชื่อมโยงถึงความสามารถในการแข่งขันด้านต่าง ๆ ในระดับโลก จำเป็นต้องใช้เวลาระยะยาวในการหาความสัมพันธ์
>> e. การจะยืนยันได้ว่าผู้เรียนมี attitude ที่ดีเกี่ยวกับ STEM จำเป็นต้องมีการศึกษาและมีการวัดที่ชัดเจน
>> f. จะยืนยันได้อย่างไรว่า STEM จะทำให้นักเรียนพร้อมในการทำงาน วัดอย่างไร เช่นเดียวกับการบอกว่านักเรียนทุกคนจะต้องมี ทักษะในศตวรรษที่ 21 ทราบได้อย่างไรว่าดี จำเป็นต้องมีงานวิจัยรองรับ
>> g. การจะบอกได้ว่าแต่ละศาสตร์เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันหรือไม่อย่างไร ควรมีงานวิจัยรองรับ
>> h. การทำวิจัยใดต้องดูแนวโน้มของประเทศด้วย เช่น ในออสเตรเลียมีความชัดเจนในการที่จะใช้วิทยาศาสตร์ในการส่งเสริมเศรษฐกิจ โดยปรากฏแนวคิดนี้ใน Australia’s National Science Statement 2017
>> i. ควรมีการศึกษาเกี่ยวกับความสามารถในการถ่ายโอนแนวคิดระหว่างศาสตร์ แนวทางในการเรียนรู้ และความสามารถในการนำเสนอความคิดของนักเรียน
>> j. ควรมีการศึกษาแนวทางในการส่งเสริมความสนใจและการมีส่วนร่วมใน STEM ของนักเรียน
>> k. การวัดประเมินผลเกี่ยวกับ STEM เป็นสิ่งสำคัญ
14. นักเทคโนโลยีท่านหนึ่งที่พัฒนาเกี่ยวกับ Artificial Intelligence (AI) และ Virtual reality (VR) technology ได้ให้ข้อคิดอย่างน่าสนใจ ได้แก่
>> a. สิ่งจำเป็นที่นักเรียนจะต้องเรียนรู้ STEM คือนักเรียนจะต้องรู้เท่าทันและใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรู้ เช่น เรารู้หรือไม่ว่า application ฟรีต่าง ๆ เช่น We chat ข้อมูลทุกอย่างที่เราสนทนากันเป็นลิขสิทธิ์ของ We chat เขาจะใช้ AI เพื่อวิเคราะห์บทสนทนาของเราและหาแนวโน้มเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ เช่น ความสนใจของคน หรือ ในอีก 20 ปีข้างหน้า งาน 47 % ในปัจจุบันจะทำโดยหุ่นยนต์ หรือ เทคโนโลยี visual recognition (การวิเคราะห์ใบหน้า) และ Neural Network (การตรวจสอบความแตกต่างของเสียง) ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลาย นักเรียนจะอยู่อย่างไรในสังคมแบบนี้ ครูจำเป็นต้องสอนอะไร
>> b. ครูอาจนำประเด็นของ AI และ VR ไปสอนนักเรียน อาจร่วมกันอภิปรายว่า machine ฉลาดกว่าคนไหม หรือเราใช้ AI และ VR ทำอะไรได้บ้าง
15. อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจของ conference นี้คือ มีส่วนที่เป็น principal speakers คือบุคคลที่มีชื่อเสียงจากแวดวงต่าง ๆ มาพูดเกี่ยวกับ STEM โดยมีห้องแยก 4 ห้องที่มีหัวข้อแตกต่างกันให้เลือก เรานั้นเลือกห้องที่เกี่ยวกับ Disruption, Innovation and Employment ซึ่งเป็นหัวข้อที่คนเข้าฟังมากที่สุด โดยวิทยากรได้กล่าวถึงว่าปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงมากมายเกี่ยวกับการจ้างงาน ประเด็นเกี่ยวกับ automation (การใช้ machine แทนคน) ยังเป็นที่ถกเถียงว่าการใช้ machine แทนคนแปลว่าจะมีการจ้างงานคนน้อยลงหรือ คำตอบคือ optimization คือการใช้ให้เหมาะสม สิ่งสำคัญคือครูต้องเตรียมนักเรียนคือให้นักเรียนเห็นประโยชน์ของความรู้ และ ทักษะใน STEM ต้องไม่กลัวเทคโนโลยี ต้องคุ้นเคยกับเทคโนโลยี เป็นผู้ใช้และผู้สร้างเทคโนโลยีได้ ในส่วนของการจ้างงานตอนนี้ต้องการคนที่มี soft skills มีความคิดสร้างสรรค์ แก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ ทำงานกับคนอื่นได้ รู้จักแบ่งปันความรู้ การรับสมัครงานในปัจจุบันจึงไม่ใช่แค่ดู CV แต่ต้องดูความสามารถในการปรับตัวและแก้ปัญหาของคนด้วย ในหัวข้อนี้ผู้เข้าฟังส่วนมากเป็นครูในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา คำถามที่ครูส่วนมากถามคือ บริษัทในปัจจุบันต้องการคนแบบไหน โรงเรียนจะต้องสอนอะไรบ้างจึงจะทำให้เด็ก ๆ พร้อมไปทำงาน หรือการที่ในโรงเรียนสอน coding สอนสูตรต่าง ๆ ดีจริงหรือ ส่งเสริมการแก้ปัญหาได้จริงหรือ ครูเหล่านี้มีความกระตือรือร้นมาก ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง และแสดงให้เห็นว่าครูมีความรู้เกี่ยวกับ STEM เช่นมีการถกเถียงกันเรื่อง engineering design process
16. อีกส่วนที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ workshop เกี่ยวกับการสอน STEM คือมีให้เลือกเยอะมาก ๆ สำหรับเราสนใจไป
>> a. workshop ของโรงเรียนที่สาธิตการสอน STEM และเล่าถึง best practices
>> b. การสอน critical thinking ใน STEM ซึ่งหัวข้อนี้สนุกมาก มีกิจกรรมให้ทำสมมติว่าเราเป็นนักเรียนประถมและทำกิจกรรม STEM มีการแสดงให้เห็นว่าได้บูรณาการอย่างไร ในเรื่องสมดุล โดยเริ่มจากการใช้อุปกรณ์ที่มี 2 แขนไว้ให้แขวนมวล และให้นักเรียนหาความสัมพันธ์ ระหว่างมวลและระยะทาง โดยเน้นให้นักเรียนคิดหลากหลายให้ได้หลายแนวทาง การให้เด็กสร้างชิ้นงานโดยใช้ Scratch ซึ่งเป็น program ที่ให้นักเรียนเขียนคำสั่ง และเล่าเรื่องความเข้าใจของตนเอง (ครูทุกคนดูจะคุ้นเคยกับการใช้ Scratch และกิจกรรมการให้นักเรียนแสดงบทบาทสมมติเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยครูที่สอน STEM ไปขอความร่วมมือกับครูการละครเขียนบทละครและมาให้นักเรียนได้พิจารณาและแสดง
>> c. กิจกรรม innovator idea เป็นการสอน coding โดยใช้ super mathematics program ซึ่งสำหรับเราไม่มีความรู้เลย แต่ก็ได้ฝึก สนุกมาก โดยวิทยากรเป็นครูฟิสิกส์ สิ่งที่น่าสนใจคือ ครูบอกว่าเวลาคุยกับเด็กตอนแรก อย่างพึ่งใช้คำว่า STEM เพราะเด็กไม่คุ้นเคยและฟังดูน่ากลัว ครูแค่อาจบอกว่า จะทำกิจกรรม hands on เด็ก ๆ ก็จะสนุกไปกับมัน
17. สรุปปิดงาน
>> a. มีลักษณะเป็น panel discussion ประกอบไปด้วย นักการศึกษา STEM จากมหาวิทยาลัย ตัวแทนภาคเอกชน ตัวแทนภาครัฐที่รับผิดชอบ STEM และ ครู STEM จากโรงเรียน
>> b. สิ่งที่ทุกท่านฝากแก่ครูระดับโรงเรียนคือ สิ่งสำคัญไม่ใช่ให้เด็กคิดว่าจะไปทำงานอะไร แต่สิ่งสำคัญคือ เด็ก จะต้องถ่ายโอนความรู้และทักษะข้ามศาสตร์ได้ และคิดให้ได้ว่าจะอยู่อย่างไรในโลกยุคใหม่
>> c. สิ่งที่เน้นให้เกิดกับเด็ก ไม่ใช่แค่ content แต่คือ literacy และ capability
>> d. วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีไม่ได้มีไว้เฉพาะกับ นักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ และนักเทคโนโลยี
>> e. มีการให้กำลังใจกับครูทุกคนว่า อย่าทำ STEM เพียงเพราะว่ารัฐบาลมีนโยบาย แต่ต้องเริ่มจากตัวครูที่เห็นความสำคัญ
>> f. STEM ไม่ใช่ trend แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ
>> g. ต้องส่งเสริมให้เกิด STEM culture
>> h. การจะยืนยันว่าสอน STEM ประสบความสำเร็จไหม ต้องมี evidence
18. สิ่งที่ประทับใจในการ conference ครั้งนี้คือ ความกระหายใคร่รู้ของครูที่จะเรียนรู้เรื่อง STEM ซึ่งมีทั้งครูประถมศึกษา มัธยมศึกษา มหาวิทยาลัย ซึ่งต่างกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ถามคำถาม และอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ในวันแรกฝนตก อากาศเย็นมาก การไปเข้าห้องสัมมนาย่อยจะต้องเดินไปตึกต่าง ๆ แต่ที่เห็นคือ ครูทุกคนฝ่าฝนไปเข้าห้องสัมมนา ไม่มีใครหนี ไม่มีใครไปนั่งร้านกาแฟ และครูส่วนมากถามคำถามที่ดี และมีความสนใจในแหล่งเรียนรู้ หรือหนังสือที่วิทยากรแนะนำ เหตุการณ์
ประทับใจเหตุการณ์หนึ่ง วิทยากรในสัมมนาย่อย ได้พูดว่าการสอน STEM ไม่ใช่การส่งเสริมให้เด็กสร้างโครงงานไปประกวด สนใจแค่แพ้ชนะ ซึ่งมีครูท่านหนึ่งได้ยกมือค้านบอกว่าตอนนี้ไม่เป็นแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว เรารู้ว่าเราจะต้องสร้างอะไรในตัวเด็กไม่ใช่แค่ประกวดชนะ
ที่มา : https://web.facebook.com/pattamaporn.pimthong/posts/1901421513207535
หมายเหตุ : บทความนี้ มาจากประสบการณ์และทัศนคติของผู้เขียน (อ.ดร.ปัฐมาภรณ์ พิมพ์ทอง) เท่านั้น และผู้เขียนอนุญาตให้เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ www.krusmart.com หากบุคคลอื่นจะนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ ให้ติดต่อและขออนุญาตผู้เขียนก่อนทุกครั้ง