1. การสัมมนาเกี่ยวกับ Theory and Theoretical framework ผู้ที่เข้าร่วมในการสัมมนาเป็นอาจารย์ซึ่งส่วนมากจะเป็นจากสาขาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และปฐมวัย และมีนิสิตปริญญาเอกเข้าด้วย กิจกรรมสัมมนาในวันนี้ โจทย์คือให้แต่ละคนมาร่วมอภิปรายกันว่า ในความเข้าใจแล้ว Theoretical framework คืออะไร Theoretical framework ช่วยเป็นแนวทางในการทำวิจัยของแต่ละคนอย่างไร Theoretical framework ต่างจาก Conceptual framework อย่างไร สิ่งที่น่าสนใจคือ แต่ละคนจะนำเสนอ Theoretical framework ของตนเอง ซึ่งอภิปรายเชื่อมโยงไปถึง paradigm ที่แต่ละคนยึดถือ ซึ่งส่วนมากจะเป็น Interpretivist paradigm นิสิต ป. เอกเองก็มีโอกาสนำเสนอ Theoretical framework ของตนเอง ถือเป็นบรรยากาศที่ดีมาก ทุกคนเปิดใจ รับฟังคนที่มีความแตกต่าง
จากนั้นวิทยากรก็ให้ครูที่มีประสบการณ์ทำ STEAM ในโรงเรียนมาเล่า เช่นโรงเรียนหนึ่ง นักเรียนได้ทำ project เกี่ยวกับถังขยะสำหรับทิ้งเบ็ดและสายเบ็ด เนื่องจากนักเรียนพบปัญหาว่าคนที่มาตกปลามักทิ้งเบ็ดและสายเบ็ด ซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์ต่างๆ นักเรียนจึงอยากที่จะหาวิธีเชิญชวนให้คนที่มาตกปลาทิ้งเบ็ดและสายเบ็ดให้เป็นที่ ชิ้นงานของนักเรียนคือการออกแบบถังขยะเพื่อทิ้งสายเบ็ด ซึ่งครูคณิตศาสตร์ และครูเทคโนโลยีจะมาช่วยเรื่องการออกแบบและสร้างถังขยะ ส่วนครูศิลปะจะมาช่วยเรื่องการตกแต่งถังขยะให้น่าสนใจ จากนั้นนักเรียนก็นำไปรณรงค์ให้คนที่มาตกปลาใช้ โดยนักเรียนทำเป็นป้ายรณรงค์ มีการให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายที่เกิดขึ้นโดยครูวิทยาศาสตร์จะมาช่วยในเรื่องเนื้อหาที่เกี่ยวกับระบบนิเวศ จากนั้นนักเรียนนำเสนองานสุดท้ายเป็นวีดิทัศน์ที่เล่าถึงการทำงานของพวกเขา มีการแต่งเพลงประกอบ ร้องประกอบซึ่งครูดนตรีก็เข้ามาช่วย ส่วนครูเทคโนโลยีครูศิลปะมาช่วยเรื่องการออกแบบและสร้างสรรค์ชิ้นงาน และวีดิทัศน์ ผลสะท้อนจากครูที่สอน STEAM คือเด็ก ๆ ชอบและมีความสุขมาก ทำชิ้นงานแค่ชิ้นเดียวแต่เชื่อมโยงหลายวิชา และยังเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเขา
จากนั้นมีกิจกรรมให้ครูแต่ละวิชาจับกลุ่มและวิเคราะห์หลักสูตรร่วมกัน เพื่อออกแบบกิจกรรม STEAM โดยบทบาทของวิทยากรน่าสนใจมากคือ ไม่ได้เน้นการบรรยายทฤษฎียาก ๆ แต่ใช้การส่งเสริมให้ครูลงมือทำ ออกแบบกิจกรรม แล้วค่อย ๆ สนับสนุนด้วยทฤษฎีทางการศึกษา วิทยากรจะเน้นให้ครูเป็น mentor ให้กับนักเรียน เพื่อสร้างสรรค์ชิ้นงาน และสิ่งที่วิทยากรเน้นย้ำกับครูคือ การศึกษาแต่ละระดับไม่ได้มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อเตรียมนักเรียนให้พร้อมจะเรียนในระดับต่อไป หรือเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่เป็นการเตรียมคนให้ใช้ชีวิตได้ วิทยากรให้โจทย์กับครูว่า เช่นครู มัธยมศึกษาตอนปลาย ทำอย่างไรจะให้นักเรียนรู้ว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยไม่ได้ต้องการแค่คนรู้เนื้อหา แต่นักเรียนต้องมีความสามารถในการทำงานกับคนอื่น มีทักษะในการสร้าง project ถึงจะเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ
ที่มา : https://web.facebook.com/pattamaporn.pimthong/posts/1917856908230662
หมายเหตุ : บทความนี้ มาจากประสบการณ์และทัศนคติของผู้เขียน (อ.ดร.ปัฐมาภรณ์ พิมพ์ทอง) เท่านั้น และผู้เขียนอนุญาตให้เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ www.krusmart.com หากบุคคลอื่นจะนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ ให้ติดต่อและขออนุญาตผู้เขียนก่อนทุกครั้ง