ผู้วิจัย นางสาวณิชัชฌา อาโยวงษ์ ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
สถานศึกษา โรงเรียนหนองหว้าพิทยาสรรค์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา
ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเพื่อเสริมสร้างความสามารถ ในการคิดอย่างมีวิจารณญาณเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 2) ศึกษาประสิทธิภาพเชิงประจักษ์ของรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่พัฒนาขึ้น การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/2 โรงเรียนหนองหว้าพิทยาสรรค์ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 18 คน โดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ อนุทิน แบบวัดความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ แบบทดสอบวัดผล สัมฤทธิ์ทางการเรียน และแบบสอบถามความคิดเห็น วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ( x) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่า ที ของวิลค็อกซัน (Wilcoxon T statistic) การทดสอบค่า t-test one group และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ (1) รูปแบบการเรียนการสอนเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณในประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีชื่อรูปแบบว่า “ไออีอาร์บีเอ: IERBA Model” มี 6 องค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ ขั้นตอนการจัดการเรียนการสอน ระบบสังคม หลักการตอบสนอง และระบบสนับสนุน สำหรับขั้นตอนการจัดการเรียนการสอน ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ ขั้นระบุประเด็นปัญหาทางวิทยาศาสตร์กับสังคม ขั้นค้นหาข้อมูล/หลักฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ขั้นสะท้อนความคิด ขั้นระดมสมอง และขั้นประยุกต์สู่การตัดสินใจ (2) ผลการทดลองใช้รูปแบบการสอนไออีอาร์บีเอ พบว่า นักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทั้งนี้ด้านการกำหนดเป้าหมายของการคิดมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด นักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจต่อการสอนด้วยรูปแบบการสอนที่พัฒนาขึ้นโดยภาพรวมในระดับมาก ทั้งนี้ด้านกิจกรรมการเรียนการสอนมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ( =4.51, S.D.=0.54)
ขอบคุณภาพประกอบจาก : https://www.youtube.com/watch?v=4X1xqWocsbQ