ครู สควค. ในโรงเรียนโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ การเรียนการสอนในห้องเรียนพิเศษ สสวท.

science-roomโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ เป็นโครงการในความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) เพื่อพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพ เพื่อเป็นฐานในการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ของประเทศ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการเรียนรู้ตามความสนใจอย่างเต็มตามศักยภาพพร้อมทั้งปลูกฝังให้มีเจตคติทางวิทยาศาสตร์และ
มีความเป็นนักวิจัยอย่างลึกซึ้ง ดำเนินการโดย

1. ใช้หลักสูตรการเรียนการสอนพิเศษ  โดยการจัดสาระการเรียนรู้และหน่วยกิตของสาระการเรียนรู้ให้เป็นไปตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ช่วงชั้นที่ 4  ของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ออกแบบรายวิชาเพิ่มเติมเป็นวิชาเลือกโดยเน้นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ตรงกับปรัชญาการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความ สามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ที่ สสวท. ดำเนินการ พร้อมทั้งเพิ่มเติมวิชาภาษาอังกฤษให้เข้มข้นมากขึ้น โครงสร้างหลักสูตรห้องเรียนพิเศษ ประกอบด้วยรายวิชาและเกณฑ์ ขั้นต่ำของกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือรายวิชาในแต่ละกลุ่มสาระรวมทั้งสิ้น 97.0 หน่วยกิต

2. นักเรียนได้รับการพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมทางวิชาการเพิ่มพิเศษ เพื่อเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์นอกห้องเรียน ให้นักเรียนได้รับความรู้จากประสบการณ์ตรง
ด้วยกิจกรรมเสริมประสบการณ์ ดังต่อไปนี้
          2.1 กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ภาคฤดูร้อน เพื่อเสริมประสบการณ์ และส่งเสริมศักยภาพของนักเรียน ด้วยกิจกรรมที่หลากหลายในค่ายวิทยาศาสตร์ เช่น การบรรยายโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ การดูงานนอกสถานที่และกิจกรรมเสริมจากการดูงาน  การทำปฏิบัติการจริง การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ การนำเสนอผลงานทางวิทยาศาสตร์แบบโปสเตอร์ การสร้างสรรค์และออกแบบสิ่งประดิษฐ์และกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่ม
         2.2 กิจกรรมเสริมประสบการณ์ทางวิชาการทุกปีการศึกษา ทั้งในและต่างประเทศเพื่อเปิดโลกกว้างกับสังคมวิทยาศาสตร์ที่ตนเองจะต้องอยู่ในเวทีเหล่านี้ในอนาคต และสามารถแข่งขันได้ในเวทีระดับโลก ด้วยรูปแบบ ดังนี้
                1) การสนับสนุนเข้าร่วมการประชุมทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศ อาทิเช่น กิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์ การประชุมทางวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย การอบรมทางวิชาการ ส่งเสริมให้มีการทำวิจัย พบปะและทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ และเข้าร่วมประกวดแข่งขันโครงงานระดับประเทศ การประชุมเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ เป็นต้น
                2) ทัศนศึกษาดูงานสถานที่ต่างๆ เป็นกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้ประสบการณ์ตรง จากการศึกษาดูงานในสถานที่จริงเพื่อเชื่อมโยงกับความรู้ที่ได้เรียนมา
          2.3 การฝึกงานกับอาจารย์พี่เลี้ยง นักวิทยาศาสตร์ หรือนักวิจัย หรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือ หน่วยงานเอกชนที่มีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ โรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่ กำหนดเวลาการฝึกงานไม่น้อยกว่า 10 วัน ระหว่างปิดภาคเรียนหรือช่วงวันเสาร์-อาทิตย์

โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550 มีจำนวน 96 โรงเรียนทั่วประเทศ  โดยทุกโรงเรียนมีครู สควค. เข้าปฏิบัติการสอนแล้ว และได้นำความรู้ความสามารถจากการศึกษาเล่าเรียนมา สอนเด็กเก่ง(วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี) ให้เป็นคนเก่งมากขึ้น สร้างความตระหนักให้นักเรียนรู้สึกรัก และเห็นคุณค่า ตลอดจนเห็นความสำคัญของการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี จนเกิดความมุ่งหวังที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นอาจารย์หรือนักวิจัย เพื่อเป็นกำลังที่สำคัญของชาติต่อไป ที่สำคัญครู สควค. ในโรงเรียนโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ย่อมมีความรู้ความ สามารถและทักษะทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์อย่างสูง จึงควรจะมีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการ หรือที่ปรึกษาทางการสอนให้แก่ครู สควค. ในจังหวัดของตนเอง ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในท้องถิ่น

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : [http://www3.ipst.ac.th/scienceroom]
ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 12 หน้าที่ 11 เขียนโดย ทองคำ  อำไพ ครู ร.ร.ทุ่งกุลาพิทยาคม จ.สุรินทร์
ภาพประกอบจาก : http://lhsfoss.org/newsletters/archive/images/foss35.creatingasr1.jpg



Leave a Comment