1. สัปดาห์นี้ได้ส่งงานเขียนชิ้นแรกให้กับ Professor ที่มาทำงานด้วย เป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะเป็นครูมา 10 กว่าปี ห่างหายจากการโดนคนอื่นสอนมานาน ดีที่สุดก็เพียงแค่ได้รับ feedback เวลาส่งบทความไปตีพิมพ์ในวารสาร แต่การมาอยู่ที่นี่ ได้ทำงานกับอาจารย์ที่เก่ง เป็นเหมือนการได้พัฒนาตัวเองทั้งด้านวิชาการและแนวทางการสอน อาจารย์ท่านก่อนจะเริ่มทำงานท่านจะถามความคิดเราก่อนว่าคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ และหากจะต้องเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ควรต้องเขียนอะไร จากนั้นก็จะแนะนำว่าเราควรอ่านอะไรเพิ่มบ้าง เมื่อเรามีชิ้นงาน ท่านก็จะให้ feedback อย่างตรงไปตรงมา ตรงมากจริง ๆ ข้อเสนอแนะในการเขียนครั้งนี้คือ เราขาดการใส่ความคิดเห็นเรื่องที่เขียน เพราะจะกลายเป็นว่าเราเพียงแต่ไปอ่านมาแล้วก็เอาความคิดคนอื่นมาใส่แต่ขาดการวิพากษ์ขาดการใส่ความคิดเห็นของเรา ซึ่งสำคัญมาก รวมถึงลำดับการเล่าเรื่องซึ่งอาจารย์บอกว่าเรายังเล่าเรื่องสลับไปมา ควรมีลำดับว่าควรกล่าวถึงอะไรก่อนหลัง จากนั้นอาจารย์ก็แนะนำให้อ่านเพิ่มโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่อง STEM ในประเทศไทยที่เรามีข้อมูลน้อยมาก
2. สัปดาห์นี้ colloquium หรือการสัมมนา เป็นอาจารย์จากสาขาคณิตศาสตร์ศึกษา อาจารย์ทำวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนา multiplicative thinking ของนักเรียนชั้นประถมศึกษา โดย multiplicative thinking เป็นความสามารถในการคิดของนักเรียนเกี่ยวกับตัวเลข ไม่ว่าจะเป็น อัตราส่วน ทศนิยม เศษส่วน หรือ ร้อยละ โดยนักเรียนควรจะต้องมีความสามารถในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ สามารถ คูณ หรือ หารได้ นอกจากนั้นยังต้องนำเสนอความคิดของตนเองในหลากหลายรูปแบบได้ด้วย โดยส่วนตัวแล้วเราไม่มีความรู้เกี่ยวกับ multiplicative thinking มาก่อนจึงถามอาจารย์ท่านว่าการที่จะมี multiplicative thinking ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการบวกมาก่อนไหม อาจารย์ท่านตอบว่าการบวกเพิ่มก็เป็นวิธีหนึ่งในการหาคำตอบ แต่ multiplicative thinking จะเน้นการส่งเสริมให้คิด เน้นที่ array ซึ่งน่าจะหมายถึงการจัดลำดับ เรียงลำดับ เช่น เด็ก ๆ ควรคิดได้ว่า ถ้ามี chocolate 3 ถุง ถุงละ 12 ชิ้น ตกลงมี chocolate ทั้งหมดกี่ชิ้น และมีวิธีคิดอย่างไร คิดได้กี่วิธี งานวิจัยนี้น่าสนใจมากเพราะเป็นงานวิจัยระยะยาวตอนนี้ผ่านมาแล้ว 4 ปี และเป็นการร่วมมือกันทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย 3 แห่งและในนิวซีแลนด์ 2 แห่ง สิ่งที่นักวิจัยกลุ่มนี้ได้ทำไปแล้วคือ การสร้าง Multiplicative Thinking Quiz ซึ่งเสร็จสิ้นไปแล้ว จากนั้นก็เป็นการไปสังเกตการสอนของครูในโรงเรียนต่าง ๆ แล้วจึงไปสำรวจ multiplicative thinking ของนักเรียนโดยใช้ Quiz นี้พร้อมทั้งการสัมภาษณ์ ซึ่งในครั้งนี้ อาจารย์ท่านนี้ได้มานำเสนอผลการสำรวจที่พบว่านักเรียนโดยส่วนมากมีปัญหาในการคิดแบบนี้ และพบว่า ครูผู้สอนซึ่งส่วนมากจบการศึกษาในสาขาประถมศึกษา ไม่ได้จบคณิตศาสตร์มีผลอย่างมากในการเรียนรู้ของนักเรียน ในลำดับต่อไปของงานวิจัยจึงจะเป็นการพัฒนาครูเพื่อจะส่งเสริมให้ครูเป็น teachers as researchers เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน การสัมมนาในวันนี้เหล่านักคณิตศาสตร์ศึกษาก็ได้มาให้ความเห็นกันอย่างกว้างขวาง แต่ปัญหาของเราคือไม่ค่อยจะรู้เรื่องว่าพูดอะไรกัน
ที่มา : https://web.facebook.com/pattamaporn.pimthong/posts/1893417887341231
หมายเหตุ : บทความนี้ มาจากประสบการณ์และทัศนคติของผู้เขียน (อ.ดร.ปัฐมาภรณ์ พิมพ์ทอง) เท่านั้น และผู้เขียนอนุญาตให้เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ www.krusmart.com หากบุคคลอื่นจะนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ ให้ติดต่อและขออนุญาตผู้เขียนก่อนทุกครั้ง