ชื่อหนังสือ :: Megatrends 2000 : อภิแนวโน้มโลก ค.ศ.2000
ผู้แต่ง :: จอห์น ไนซ์บิตต์ และ แพทริเซีย อเบอร์ดีน แปลเป็นภาษาไทยโดย สันติ ตั้งรพีพากร
เนื้อเรื่องย่อ แนวโน้มใหญ่ของโลกก่อนถึงศตวรรษที่ 21 ที่จะมีผลต่อมวลมนุษยชาติมากที่สุด ได้แก่
1. เศรษฐกิจของโลกจะเบ่งบานก้าวจากการค้าระหว่างประเทศไปเป็นระบบเศรษฐกิจเดียว ตลาดเดียว ทำการค้าระหว่างกันอย่างเสรี 100 % โดยไม่มีปัญหาการขาดดุลการค้าระหว่างประเทศ ข้อมูลสารสนเทศจะกลายเป็นสินค้าตัวใหม่ที่ทำกำไรได้
2. คนจะหันมาพักผ่อนหรือใช้เวลาว่างโดยการชื่นชมความงามในงานศิลป์ ศิลปะจะได้รับการฟื้นฟู ทำให้เกิดโอกาสทางอาชีพในงานศิลป์ใหม่ๆและ การตัดสินใจในเรื่องต่างๆจะอิงกับไลฟ์สไตล์ทางด้านงานศิลป์มากยิ่งขึ้น
3. ประเทศสังคมนิยมจะปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยการผสมผสานองค์ประกอบแบบกลไกตลาดเข้าไปช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจให้ก้าวกระโดด ลดอำนาจจากส่วนกลาง จัดทำกฎระเบียบแบบแผนใหม่
4. มีการดำเนินชีวิตเป็นแบบ “สากล” และกำลังพัฒนาไปสู่ความเป็นแบบเดียวกันมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็เกิดวัฒนธรรมชาตินิยม เพื่อรักษาความเป็นตัวของตัวเองทั้งทางภาษา วัฒนธรรม จารีตประเพณีดั้งเดิม ให้ปลอดการครอบงำจากต่างชาติ
5. มีการแปรรัฐวิสาหกิจของประเทศไปเป็นของเอกชน ให้ประชาชนเป็นหุ้นส่วน
6. เอเชียแปซิฟิกจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในด้านต่างๆ ของโลก จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกงและสิงคโปร์ จะอยู่ในฐานะผู้นำทางด้านเศรษฐกิจ การมีวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา ที่สั่งสมมายาว นานและหลากหลาย จะกลายเป็นผู้นำในด้านศิลปะและวัฒนธรรม
7. หญิงและชายจะอยู่ในฐานะเท่าเทียมกัน ผู้หญิงจะมีบทบาทเป็นผู้นำในวงการธุรกิจการค้าและการเมืองทั้งการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติมากขึ้น
8. เทคโนโลยีชีวภาพจะทรงความสำคัญ จะกลายเป็นธุรกิจยุคใหม่ที่ทำกำไรมหาศาล แม้จะมีการคัดค้าน ด้วยเกรงว่าจะส่งผลกระทบในด้านลบทางด้านจริยธรรม กฎหมายและสังคม แต่มันก็ดึงดูดนักวิทยาศาสตร์และนักธุรกิจการค้าเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก
9. ศาสนาต่างๆจะกลับมาสู่ยุคแห่งความเฟื่องฟูอีกครั้ง จะเกิดนิกายย่อยขึ้นมากมาย และได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะเน้นความสำคัญเรื่องจิตใจ ประสบการณ์ทางจิต มากกว่าการเน้นพิธีการ ทำให้นิกายหลักต้องปรับตัวใช้การตลาดเข้ามาเป็นตัวช่วย
10. เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ปัจเจกชนมีพลัง มีอำนาจ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น สังคมต้องให้รางวัลแก่การริเริ่มในเรื่องต่างๆของปัจเจกชน
วิพากษ์วิจารณ์หนังสืออภิแนวโน้มโลก ค.ศ.2000
ทั้ง 10 ข้อดังกล่าวนั้น คือแนวโน้มใหญ่ของโลกเราในทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 หรือช่วงสิบปีสุดท้ายก่อนที่โลกจะก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ในปี ค.ศ. 2000 แนวโน้มเหล่านั้นเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆสะสมขึ้นทีละน้อยทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและเทคโนโลยีแล้วส่งผลกระทบต่อเราอย่างต่อเนื่องในระยะเวลานานพอสมควร
ขณะนี้เราอยู่ในปี ค.ศ.2002 จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ได้เกิดขึ้น ดำเนินอยู่ และ คลี่คลายไปบ้างแล้ว ซึ่งก็เป็นบทพิสูจน์ได้ว่า การกล่าวถึงแนวโน้มของโลกของผู้เขียนเมื่อปี ค.ศ. 1990 นั้นปรากฏเห็นผลจริงทุกประการ เพราะในช่วงที่ 10 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นปรากฏการณ์ต่างๆอาทิ การรวมกลุ่มกันของกลุ่มประเทศยุโรปใช้เงินสกุลเดียวกัน การพึ่งพามากกว่าการแข่งขัน และการไม่ใช้สงครามในการแก้ปัญหา ผู้คนส่วนใหญ่มักใช้เวลาว่างไปเพื่อการชมการบันเทิง การแสดงศิลปะ การพยายามทำความเข้าใจถึงความหมายของการเป็นมนุษย์และอยู่ในโลกอันสุนทรี มีการสร้างพิพิธภัณฑ์มากมาย ประเทศสังคมนิยมอย่างจีนและเวียดนามนำกลไกตลาดเข้าไปช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ จนเกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เราได้เห็นการดำเนินชีวิตแบบเป็นสากลมากขึ้นทั้งด้านภาษา อาหาร การแต่งกาย ความบันเทิง มีการยอมรับหลักสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกัน ก็เกิดวัฒนธรรมชาตินิยมขึ้นในหลายประเทศ เห็นคุณค่าและให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมท้องถิ่นมากขึ้น รัฐบาลมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปเป็นของเอกชน จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกงและสิงคโปร์ กำลังมีบทบาทอย่างสำคัญทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก ผู้หญิงก้าวขึ้นสู่ฐานะผู้นำทางการเมืองระดับสูงในหลายประเทศ เช่น ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีประธานาธิบดีเป็นสตรี เรื่องเทคโนโลยีชีวภาพเป็นเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจอย่างสูง มีการตัดต่อสายพันธ์พืช สัตว์ต่างๆ ได้สำเร็จ แม้จะมีการคัดค้าน แต่มันเป็นสิ่งที่จะหยุดยั้งไม่ได้ จึงมีความจำเป็นที่คนรุ่นใหม่จะต้องใส่ใจและเรียนรู้ ปัจจุบันมีลัทธินิกายศาสนาใหม่เกิดขึ้นมากมาย ที่แน่นอนแต่เน้นเรื่องการปฏิบัติทางจิตและได้รับความนิยม ทำให้ลัทธิหลักต้องปรับตัวโดยการใช้การตลาดดึงดูดศาสนิกให้เลื่อมใสศรัทธา และคนที่ดำรงชีวิตในสังคม มีความเป็นปัจเจกชนสูงและมีมากขึ้นในทุกสังคม
หนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนเขียนแบบมองโลกในแง่ดี ไม่พูดถึงปัญหาและอุปสรรคที่มนุษยชาติต้องเผชิญ แต่ไปพูดถึงเฉพาะแนวโน้มที่เป็นความหวังและมีโอกาส และนำเสนอเพียงแค่ 10 ข้อซึ่งในความเป็นจริงก็ยังมีแนวโน้มอื่นๆที่เกิดขึ้นเช่นกัน เชื่อว่าสาเหตุที่นำเสนอเพียง 10 ข้อนี้ อาจเป็นเพราะผู้เขียนเห็นว่าเป็นแนวโน้มที่ใหญ่จริงๆเท่านั้นก็ได้ และการพูดถึงเฉพาะเรื่องของความหวังและโอกาสนี้ก็เป็นสิ่งที่เหมาะสมเพราะศตวรรษที่ผ่านมามนุษยชาติก็บอบช้ำมามากพอแล้วจากการทำสงครามและความขัดแย้งต่างๆนา ในโอกาสที่จะเข้าสู่พันปีใหม่ การพูดถึงปัจจัยที่จะทำให้เราเข้าใจและใช้ชีวิตได้อย่างเท่าทันในศตวรรษที่ 21 ว่าไม่ใช่เทคโนโลยีหากแต่เป็นแนวความคิดที่กว้างไกลในเรื่องความหมายและความเป็นคนแทนจะช่วยให้เราใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีความปกติสุข
เนื้อหานี้จัดทำโดย นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข : เป็นส่วนหนึ่งของการเรียน ป.บัณฑิตวิชาชีพครู วิชา หลักสูตรและการสอนฟิสิกส์
ภาพประกอบจาก : https://ck.lnwfile.com/z1c1p4.jpg