สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเห็นความงามของปีกแมลงทับจากผ้าทรงสะพักของพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีอายุกว่า 100 ปี ในพระที่นั่งวิมานเมฆ ผ้าไหมจะเปื่อยไปตามกาลเวลา แต่ความงามของปีกแมลงทับจะยังคงงดงามอยู่บนเนื้อผ้า ด้วยพระปรีชาญาณที่ลึกซึ้งและพระราชหทัยที่จะฟื้นฟูอนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปะทุกแขนง ทั้งที่ใกล้จะเสื่อมสูญ หรือดำรงอยู่แต่ด้อยความนิยมทั้งผู้ผลิต และผู้ใช้ให้กลับยั่งยืนเพื่อเป็นศิลปหัตถกรรมคงอยู่คู่ชาติไทย ทรงพระราชดำริว่า ปีกแมลงทับมีความงดงาม น่าจะนำมาทำประโยชน์ได้
หนังสือมูลนิธิศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินาถ อธิบายถึงงานตกแต่งด้วยปีกแมลงทับว่า “งานศิลปะของไทยแต่อดีตมีอยู่ไม่น้อยที่ใช้ปีกแมลงทับที่มีสีเขียวเหลือบฟ้าหรือสีทองแดงเหลือบเหลือง อันน่าอัศจรรย์มาเป็นส่วนประกอบตกแต่ง เช่น การใช้ปักลงบนผ้าสไบ ประกอบกับแมลงทับเป็นแมลงที่วงจรชีวิตสั้น เมื่อถึงฤดูก็จะตายเองตามธรรมชาติ ตกอยู่ตามโคนไม้ที่เป็นอาหาร เช่น มะขามเทศ เป็นจำนวนมาก และสีสันอันวิจิตรที่ปีกนั้นก็มีความคงทนงดงามไม่จืดจาง นอกจากนั้น ยังมีคุณสมบัติที่เหนียวสามารถตัดเป็นเส้นใหญ่น้อยได้ตามความต้องการจึงได้พระราชทานดำริให้ใช้ปีกแมลงทับตกแต่งทำเป็นเครื่องประดับประเภทต่างๆ ต่อมาก็ได้ทดลองใช้ปีกแมลงทับตกแต่งตัวนกที่ทำจากไม้แกะสลัก โดยตัดเป็นงานประติมากรรมอันงดงามน่าอัศจรรย์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อมีผลสำเร็จเป็นที่น่ายินดีเช่นนี้แล้ว จึงได้ทรงพระราชดำริให้ตัดปีกแมลงทับเป็นเส้นเล็กลงไปอีก และสอดสลับลายกับย่านลิเภา นับเป็นงานประณีตศิลป์ชิ้นสำคัญแห่งยุคสมัย ซึ่งยังมิได้มีผู้ใดเคยคิดประดิษฐ์มาก่อน นับเป็นพระอัจฉริยภาพ ซึ่งจะต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ศิลปะของไทยอีกครั้งหนึ่ง”
อีกทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้ตกแต่งประดับปีกแมลงทับบนฉลองพระองค์ ที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมหางกระรอกด้วย ศิลปะตกแต่งด้วยปีกแมลงทับนี้ ได้นำออกเผยแพร่ เมื่อพ.ศ. 2530เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 5 รอบ ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระราชดำริให้มีการศึกษา ค้นคว้าและวิจัยการเพาะเลี้ยงแมลงทับ อันเป็นแมลงพื้นบ้านที่ใครๆ ก็มองข้ามเพื่อให้ได้รู้ถึงวงจรชีวิตและนิเวศวิทยาของแมลงทับ เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิศิลปาชีพ ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์รับสนองพระราชดำรินี้ จึงได้เกิดโครงการอนุรักษ์แมลงทับในประเทศไทย มีนักวิชาการด้านกีฎวิทยาเริ่มต้นวิจัยเกี่ยวกับแมลงทับมาตั้งแต่ พ.ศ. 2535
ปัจจุบัน แมลงทับในชนบทลดจำนวนลงอย่างมาก เนื่องจากมีการตัดทำลายต้นมะขามเทศ ซึ่งเป็นพืชอาหารหลักของแมลงทับ เพื่อเป็นการอนุรักษ์แมลงทับให้คงอยู่ตลอดไป จึงสมควรมีการอนุรักษ์และปลูกต้นมะขามเทศ ให้มากขึ้น ที่สำคัญไม่ควรจับแมลงทับในช่วงการวางไข่(สิงหาคม) ไปเป็นอาหารหรือฆ่าเพื่อเอาปีกของมันเท่านั้น
งานตกแต่งด้วยปีกแมลงทับ นับเป็นงานศิลปะที่ทรงคุณค่า ซึ่งได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้มั่นคงยั่งยืนอยู่คู่ชาติ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชาวไร่ชาวนาและประเทศชาติโดยส่วนรวม ก็ด้วยเดชะพระบารมีในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยแท้
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า ล้นกระหม่อม อันหาที่สุดมิได้ ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 12 หน้าที่ 4 เขียนโดย นางรัสนา อนันตสุข ครู ร.ร.โนนเทพ จ.สุรินทร์
ภาพประกอบจาก : วารสาร สควค. ฉบับที่ 12 หน้าที่ 4