“….ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถและความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือ รู้แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดเป็นหลักอย่างน้อย 2 ประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอดครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่งซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไป ด้วยเสมอคือ ต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรงเป็นกลาง ไม่ยอมให้รู้เห็น และเข้าใจตามความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้เป็นประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้…” พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 22 มิถุนายน 2524
ยุทธศาสตร์ “ฉลาดรู้” มีองค์ประกอบ ดังนี้
1. มุ่งมั่นด้วยศรัทธา
2. ใฝ่หาความรู้คู่คุณธรรม
3. นำไปใช้อย่างชาญฉลาด
4. ไม่ประมาทหมั่นตรวจสอบพัฒนา
นวัตกรรมการเรียนรู้ : SICAR Model และการนำไปใช้
1. การสร้างแรงจูงใจในตนเอง (Self-Motivation) ครูต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าและความสำคัญว่า การเรียนเรื่องนั้น มีความหมายต่อตัวผู้เรียนอย่างไร
2. การเสาะแสวงหาความรู้ (Investigation) ครูต้องสนับสนุนการแสวงหาความรู้ของนักเรียนในรูปแบบต่างๆ เช่น การให้ผู้เรียนทำวิจัย เรียนในสภาพแวดล้อมที่เหมือนจริงมากที่สุด เรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง เรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและส่งเสริมการทำงานเป็นทีม ฯลฯ
3. การสร้างองค์ความรู้ (Construction) ครูต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนใช้กระบวนการคิดในลักษณะเชื่อมโยงสิ่งต่างๆเข้าด้วยกัน โดยอาจใช้เครื่องมือการเรียนรู้บางอย่างช่วย เช่น การสร้าง Mind map หรือ Concept map เป็นต้น
4. การนำความรู้ไปใช้ (Application) ครูต้องให้ผู้เรียนนำความรู้ไปแก้ปัญหาของตนเองและแก้ปัญหาของชุมชนโดยการสร้างผลงาน ชิ้นงาน สิ่งประดิษฐ์ เขียนบทความ เอกสารทางวิชาการหรือแสดงแนวคิดที่จะนำไปใช้
5. การทบทวนความรู้ (Revision) ครูควรให้ผู้เรียนทบทวนความรู้ของตนเพื่อที่จะยึดมั่นว่าสิ่งที่ตนรู้นั้นถูกต้องและดีที่สุดแล้ว โดยอาจให้ค้นคว้าผลงานของผู้อื่นที่คล้ายกัน และนำเสนอต่อที่ประชุมวิชาการในโอกาสต่างๆ
และในการประเมินผลการเรียนของผู้เรียนนั้น ต้องประเมินผลตามสภาพจริง มีการประเมินไปพร้อมๆ กับการจัดกิจกรรมทั้งที่โรงเรียน บ้านและชุมชน โดยเน้นคุณภาพของผลงาน ที่วัดความคิดระดับสูง และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนและผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ดี ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะและคุณธรรมตามที่หลักสูตรกำหนดไว้ได้
อ้างอิง :: สภาสถาบันราชภัฎ, กระทรวงศึกษาธิการ. รายงานการวิจัย รูปแบบการเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ระยะที่ 1 การสร้างรูปแบบการเรียนรู้ “ฉลาดรู้”. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ตีรณสาร, 2543.
ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 7 หน้าที่ 5 เขียนโดย ครูรัสนา อนันตสุข ครู ร.ร.โนนเทพ จ.สุรินทร์