รางวัลครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการประกอบวิชาชีพครูวิทยาศาสตร์ ที่สาขาครูวิทยาศาสตร์ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้คัดเลือกครูวิทยาศาสตร์ประจำปี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบัน เพื่อประกาศเกียรติคุณ ยกย่องและให้กำลังใจแก่ครูวิทยาศาสตร์ ที่มีความสามารถในการสอนนักเรียนและนักศึกษา ให้มีความสามารถใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและ มีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ ตลอดจนรู้จักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้ครูมีใจศรัทธาในอาชีพครูวิทยาศาสตร์
ครูเจษฎา เนตรสว่างวิชา สควค.รุ่นที่ 1 รับพระราชทานโล่รางวัลครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น
ครู สควค. จำนวนมากได้ชื่อว่าเป็นครูที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน และได้ผลิตผลงานวิจัยและผลงานทางวิชาการจำนวนมาก ชมรมครู สควค. จึงเห็นว่าครูดีที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับของสังคมเหล่านั้น สมควรได้รับการประกาศเกียรติคุณและได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อเป็นเกียรติประวัติของตนเองและเป็นความภาคภูมิใจร่วมกันของมวลสมาชิก สควค.
ครูที่ประสงค์จะส่งผลงานเข้าประกวดและรับการคัดเลือก จะต้องมีผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนี้
1. ด้านการสอนวิทยาศาสตร์
– มีความรู้ความเข้าใจในสาระการเรียนรู้ ตามสาขาที่สอนและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาผู้เรียน
– การรู้จักใช้สื่อการสอน เพื่อแก้ปัญหาการสอน ให้สอดคล้องกับหลักสูตรและเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น รู้จักนำทรัพยากรหรือวัสดุเหลือใช้มาใช้อย่างคุ้มค่า
ความสามารถดังกล่าวนี้ เป็นลักษณะริเริ่มสร้างสรรค์หรือพัฒนาการสอนที่ทำให้เกิดคุณภาพต่อนักเรียนจนเป็นที่ยอมรับ และบ่งบอกถึงความเป็นผู้นำในการทำงานทำให้ผู้อื่นนำไปแบบอย่างในการปฏิบัติงานได้ เช่น ได้รับการคัดเลือกให้เป็นครูแกนนำ ครูต้นแบบของเขตการศึกษา หรือจังหวัด หรือได้รับเชิญเป็นวิทยากรผู้ให้การอบรมผู้อื่น
2. ผลงานการสร้างสรรค์ทางวิชาการ
– การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้และผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หรืองานวิจัยในชั้นเรียน
– ประดิษฐ์อุปกรณ์หรือผลิตสื่อการเรียนการสอนหรือนวัตกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อช่วยในการสอน
– แต่งตำรา เอกสารความรู้ คู่มือ เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรือเข้าร่วมอบรมศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ หมั่นค้นคว้า รวบรวมความรู้จนมีเอกสารเป็นหลักฐาน
3. ผลงานอื่น ๆ เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สำหรับเยาวชนและประชาชนไทย
– ผลงานการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ทั้งด้านผลสัมฤทธิ์และทักษะกระบวนการ เช่น จัดตั้งชุมนุมวิทยาศาสตร์ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีงามในสถานศึกษาหรือมีส่วนร่วมกับชุมชน หรือเป็นที่ปรึกษาให้นักเรียนทำกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ เช่น ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ จนได้รับรางวัลในการประกวด/ แข่งขัน โดยมีหลักฐาน เช่น โล่ เกียรติบัตร เป็นต้น
– การพัฒนาเครือข่ายครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการรวมกลุ่มหรือการเป็นสมาชิกชมรม สมาคมเพื่อพัฒนาวิชาชีพครูวิทยาศาสตร์
– การบริการสังคมและประชาชนทั่วไปในเชิงวิชาการ เช่น เป็นผู้นำด้านการให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง การเรียน จัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ในชุมชน
– มีการเผยแพร่แนวความคิดและองค์ความรู้ผ่านทางสื่อมวลชนในรูปบทความ งานเขียนตีพิมพ์ทางสื่อมวลชน
ชมรมครู สควค. ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างหลักฐานตามประเด็นต่างๆ เพื่อส่งเข้าประกวดครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น แต่ว่าถ้าครูที่มีผลงานหรือทำงานในลักษณะนี้อยู่แล้ว หรือจะพัฒนาตนเองตามแนวทางนี้เพื่อเป็นครูดีที่มีคุณภาพ ก็ควรส่งเสริมให้ได้รับการคัดเลือกเพื่อประกาศเกียรติคุณ โดยผู้สนใจติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ [www.scisoc.or.th]
ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 4 หน้าที่ 13 เขียนโดย ครูปรมินทร์ แก้วดี สควค.รุ่น 6 ร.ร.ศิลาลาดวิทยา จ.ศรีสะเกษ