อาจารย์เจษฎา จบการศึกษาระดับปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิต (วท.บ.) สาขาเคมี จาก ม.ราชภัฎนครสวรรค์ ป.บัณฑิตวิชาชีพครู จากม.เชียงใหม่ และวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (วท.ม.) เคมีอินทรีย์ จาก ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
ภาระหน้าที่ของครู สควค. ก็คือ การมุ่งพัฒนาการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนให้นักเรียน มีคุณลักษณะพื้นฐานของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นนักคิด นักวิจัย ตั้งแต่วัยเด็ก มีเจตคติที่ดีต่อวิชาวิทยาศาสตร์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์สูงขึ้น ยกมาตรฐานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของนักเรียนให้มีมาตรฐานในระดับเดียวกับนานาชาติ ส่วนสิ่งที่ครู สควค. โดดเด่นก็คือ จบการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ที่บ่มเพาะความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาเป็นอย่างดี จึงสามารถจัดการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นเนื้อหาในแนวดิ่งเชิงลึกให้กับนักเรียนได้ นอกจากนี้ ยังสามารถฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้นักเรียนได้ ทำให้นักเรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ในระดับขั้นพื้นฐานต่อยอดไปสู่การเรียนในระดับอุดมศึกษาได้ชัดเจน
อาจารย์เจษฏาเล่าว่า “การพัฒนากระบวนการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ของผมก็คือการนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ในองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้ได้ 100% และที่สำคัญต้องเข้าใจธรรมชาติของวิชาวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ประกอบการเรียนรู้ในทุกหน่วยการเรียน นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ และแก้ปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียน และพยายามเชื่อมโยงความรู้วิทยาศาสตร์ในห้องเรียน ไปสู่ชีวิตจริงให้มากที่สุด อีกวิธีหนึ่งที่เป็นผลสำเร็จก็คือการเรียนวิทยาศาสตร์ภาคสนามโดยให้นักเรียนได้เรียนรู้องค์ความรู้โดยใช้สื่อจากธรรมชาติและของจริงที่มีอยู่ใกล้ตัว พยายามให้นักเรียนมองวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่เราเกี่ยวข้องอยู่ทุกวัน จนแยกออกจากชีวิตประจำวันเราไม่ได้ สิ่งที่ครูทุกคนต้องตระหนักโดยตลอดก็คือธรรมชาติของนักเรียนและความแตกต่างระหว่างบุคคล การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของผมจึงใช้กระบวนการกลุ่ม เพื่อให้นักเรียนได้ใช้ความสามรถทางการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ฝึกทักษะ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ร่วมกันได้อย่างเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ผมยังได้ใช้กระบวนการวิจัย มาติดตามการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนานักเรียนอย่างเป็นระบบอีกด้วย”
อาจารย์เจษฎาฝากไปถึงครูรุ่นน้อง หรือผู้ที่กำลังที่จะก้าวเข้ามาเป็นครูมือใหม่ว่าเมื่อกำลังเข้ามาเป็นครู ต้องเตรียมใจให้รักและศรัทธา ในวิชาชีพครู ภาคภูมิใจในอาชีพครูและต้องเรียนรู้ภาระงานของเรา สิ่งที่เป็นภาระหลักในอาชีพครูก็คือภาระการสอนนักเรียนให้สามารถเรียนรู้องค์ความรู้ได้ ตามมาตรฐาน ของหลักสูตร นอกจากนี้ ครูยังต้องทำหน้าที่ในการเป็นแบบอย่างด้านพฤติกรรมการวางตัวตามจรรยาบรรณวิชาชีพ องค์ความรู้ที่ร่ำเรียนมานั้นเป็นปัจจัยหนึ่งในการพัฒนาวิชาชีพ แต่สิ่งที่เราจะได้มากกว่าที่เรียนมาก็คือประสบการณ์ตรงจากการเรียนรู้จากเพื่อนร่วมงาน และจากนักเรียนอาชีพครูเป็นอาชีพที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เพียงอุดมการณ์เดี๋ยวนี้อาชีพครูมีความก้าวหน้ามากและมั่นคง
ดังนั้น เมื่อเรากำลังก้าวสู่อาชีพครูควรเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อเป็นครูมืออาชีพด้วย การเตรียมตัวเตรียมใจในการเป็นครูมืออาชีพนั้นพอจะแบ่งโอกาสความก้าวหน้าได้ สามช่วงใหญ่ ๆ ได้แก่
ช่วงที่หนึ่ง คือช่วงปรับตัวและเรียนรู้ สิ่งที่จะทำให้เราจะเป็นครูที่ดีได้นั้นต้องมาเรียนรู้เองในการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับนักเรียนการพัฒนาตนเอง และการค้นหาแนวทางของตนเองในการเป็นครูในระยะนี้จึงต้องฝึกประสบการณ์ในหลาย ๆ ด้าน ให้การช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานในองค์กรเพื่อเรียนรู้งาน ประมาณ 3-5 ปี และเพื่อให้รักในวิชาชีพครู
ช่วงที่สอง คือช่วงสร้างเกียรติยศความภาคภูมิใจและการพัฒนาตนเตรียมเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ได้แก่ การหาแนวทางในการพัฒนาวิชาชีพอย่างจริงจังเพราะเรามีประสบการณ์ในระดับหนึ่งแล้ว เช่น การสร้างนวัตกรรมใช้ในการจัดการเรียนรู้ การทำวิจัยในชั้นเรียน เพื่อหาจุดเด่นและจุดแข็งในการเป็นครูของเรา เป็นตัวตนของเรา หรือตามบริบทของการเสริมหรือสร้างจากเดิมที่มีอยู่ในโรงเรียนให้เด่นชัดขึ้น ซึ่งผลงานที่จะนำพาให้เรามีเกียรติยศได้ดีที่สุดก็คือการพัฒนานักเรียนให้มีผลสำเร็จผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ซึ่งผลงานจากการพัฒนานักเรียนนี้จะเป็นจุดแข็งในความเป็นครูมากกว่าผลงานด้านอื่น และหาเวทีวิชาการแสดงออกและแลกเปลี่ยนในทุกระดับเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเผยแพร่ผลงาน ซึ่งเวทีเหล่านี้จะช่วยวัดและเพิ่มมาตรฐานการทำงานของเราโดยตรง ซึ่งช่วงที่สองนี้ใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี
ช่วงที่สาม คือการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการ อันเป็นการแสดงถึงการเป็นครูมืออาชีพเต็มตัว ซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าและมีค่าตอบแทน จากตำแหน่งวิชาการในปัจจุบัน ตั้งแต่ครูผู้ช่วย ครูชำนาญการ ครูชำนาญการพิเศษ ครูเชี่ยวชาญ และครูเชี่ยวชาญพิเศษ ช่วงละ 10 ปีหลังจากช่วงที่สอง ฝากไปยังเพื่อนครูที่มัวแต่ท้อแท้ ดูถูกตนเองว่าอาชีพครูต่ำต้อย หรือมัวแต่ตั้งหน้าสอนพิเศษปั้มเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่ เดี๋ยวแก่ตัวจะสายเกินไปนะครับ
“ สำหรับครูวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ ผมขอฝากไว้ว่าพวกเราโชคดีที่ได้สอนในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ เพราะการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์นั้นมีรูปแบบการจัดประสบการณ์เรียนรู้เฉพาะตัวอยู่แล้วได้แก่ การเรียนรู้โดยผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งแฝงไว้ทั้งทักษะกระบวนการ และคุณธรรมในรูปแบบของเจตคติทางวิทยาศาสตร์ เพียงแต่ขอให้ครูวิทยาศาสตร์ได้ดำเนินกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ให้ได้ 80-100 % ในการสอนองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ผมเชื่อว่าเราสามารถตอบได้ทุกโจทย์ ในการประเมินมาตรฐานตามหลักสูตรและมาตรฐานผู้เรียน เช่นการประเมินกระบวนการคิด ต่าง ๆ ซึ่งการสอนด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์คือการสอนวิธีเรียนรู้ให้นักเรียน ไม่ได้สอนองค์ความรู้ เพราะฉะนั้นอย่าสอนวิทยาศาสตร์โดยหลงประเด็นโดยไม่ได้ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เลย หรือใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการเรียนรู้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์น้อยกว่าการสอนวิธีอื่น ๆ ก็จะทำให้การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศเราน่าเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อย ๆ”
ที่มา :: ส่วนประชาสัมพันธ์ สสวท. โดยสินีนาฎ ทาบึงกาฬ เผยแพร่ในวารสาร สควค. ฉบับที่ 10 หน้าที่ 10-11 [ข่าวและบทความเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (www3.ipst.ac.th)]