การจัดค่ายวิทยาศาสตร์แบบองค์รวม กิจกรรมค่ายที่เน้นการบูรณาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และสังคม

ค่ายวิทยาศาสตร์ เป็นกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เสริมหลักสูตรชนิดหนึ่ง ซึ่งช่วยเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ตรงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับนักเรียนได้อย่างดี มีการรูปแบบการจัดที่หลากหลาย

การจัดค่ายวิทยาศาสตร์แบบองค์รวม เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับครูวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ โดยมีวัตถุ ประสงค์ที่สำคัญคือ การปลูกฝังแนวคิด ระเบียบวิธีการทางวิทยาศาสตร์ แก่นักเรียน ที่เน้นการใช้แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นและบูรณาการความรู้ที่ได้แบบองค์รวม  

ค่ายวิทยาศาสตร์แบบองค์รวม ได้นำมาดำเนินการในการจัดค่ายวิชาการของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ สำหรับนักเรียน ม.ต้นและ ม.ปลาย ในโครงการส่งเสริมและพัฒนาอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ ดังนี้

ก่อนจัดค่าย ครูอาจารย์และผู้จัดค่าย ทำการออกสำรวจแหล่งการเรียนรู้ในชุมชนและบริเวณใกล้เคียง ตลอดจนติดต่อวิทยากรท้องถิ่น เพื่อใช้เป็นแหล่งการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนที่จะเข้าค่าย  ตัวอย่างแหล่งเรียนรู้ที่เคยพานักเรียนไปศึกษาได้แก่  ป่าชายเลน  บ่อเกลือและนากุ้งของเกษตรกร  ถ้ำบนภูเขา  แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา กลุ่มอาชีพการทำผ้ามัดย้อม  การเผาถ่านจากไม้โกงกาง และโบราณสถานภายในวัด เป็นต้น หลังจากสำรวจพื้นที่แล้วผู้จัดค่ายร่วมกันวางแผนว่าควรใช้สถานที่ใดเป็นแหล่งเรียนรู้ แต่ละแหล่งควรใช้เวลาในการศึกษานานกี่นาที  รวมทั้งคาดคะเนถึงปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น เช่น น้ำขึ้น-น้ำลง เป็นต้น  เมื่อกำหนดสถานที่รวมทั้งวางแผนด้านอื่นๆเรียบร้อย จึงประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักเรียนที่มีความสนใจมาร่วมเข้าค่าย ซึ่งกิจกรรมในการเข้าค่ายใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 3 วัน ดังนี้

science-campกิจกรรมวันที่ 1  ผู้จัดค่ายนำนักเรียนเข้าศึกษาแหล่งเรียนรู้ที่ได้กำหนดไว้ โดยนักเรียนจะได้รับแจกอุปกรณ์สำหรับเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อย่างง่าย เช่น ไม้บรรทัด เทอร์โมมิเตอร์ กรรไกร อินดิเคเตอร์ ถุงพลาสติก เป็นต้น  จากนั้นในช่วงบ่ายหรือกลางคืน (ตามความเหมาะสม)  นักเรียนผู้ร่วมค่ายต้องเขียนสิ่งที่ตนเองสงสัยหรือสิ่งที่ตนเองมีความสนใจอยากรู้มากขึ้น  อันอาจเกิดจากการสังเกตหรือการได้ฟังจากวิทยากรโดยต้องเขียนข้อสงสัยเหล่านั้นในรูปแบบของคำถาม(ปัญหา)  จากนั้นคณะผู้จัดค่าย จะนำคำถามทั้งหมดอันเกิดจากข้อสงสัยของนักเรียนมารวมเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ประมาณ 3 กลุ่มคือ

กลุ่มที่หนึ่ง เป็นคำถามที่ไม่ต้องทำการทดลองก็รู้คำตอบหรือทำการทดลองก็ใช้เวลาสั้นมากๆ เช่นคำถาม         “อุณหภูมิที่ใช้ในการเผาถ่านคือเท่าใด?” อาจได้รับคำตอบโดยสอบถามจากวิทยากรโดยตรงหรือใช้เทอร์โมมิเตอร์วัด

กลุ่มที่สอง เป็นคำถามที่ไม่สามารถทดลองได้หรือทำการทดลองได้แต่ต้องใช้ระยะเวลานานและใช้ความรู้ขั้นสูง เช่นคำถามที่ว่า “หินที่อยู่ในถ้ำมีอายุนานเท่าใด?”(อาจหาคำตอบได้ง่าย ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของครูพี่เลี้ยง)

กลุ่มที่สาม เป็นคำถามที่สามารถหาคำตอบได้จากการทดลองและสามารถทำได้ระหว่างการเข้าค่าย เช่น “รากของไม้ในป่าชายเลนแตกต่างจากรากไม้บริเวณอื่นๆอย่างไร?”   “ส่วนประกอบของน้ำในนาเกลือมีอะไรบ้าง?”  เป็นต้น   

หลังจากนั้นคณะผู้จัดค่ายนำคำถามในกลุ่มที่สามซึ่งเป็นคำถามที่สามารถทำการทดลองได้ในระหว่างการเข้าค่ายมาแยกออกเป็นกลุ่มย่อยตามหัวข้อต่างๆ โดยอาจมีการรวมบางคำถามเข้าด้วยกันและตั้งเป็นคำถามขึ้นใหม่ตามความเหมาะสม จากนั้นคณะผู้จัดค่ายจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามจำนวนคำถามที่มีอยู่  เพื่อทำหน้าที่เป็นครูพี่เลี้ยงให้กลับนักเรียนในการออกแบบและทำการทดลองเพื่อตรวจสอบสมมติฐาน

กิจกรรมวันที่ 2  คณะผู้จัดค่ายประกาศหัวข้อวิจัย(คำถาม)ที่ได้กลั่นกรองแล้วให้นักเรียนทราบ และให้นักเรียนเลือกหัวข้อที่ตนเองสนใจหนึ่งหัวข้อ  จากนั้นนักเรียนแต่ละคนหรือแต่ละกลุ่ม (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เพราะบางหัวข้ออาจไม่มีนักเรียนเลือก ในขณะที่บางหัวข้ออาจมีนักเรียนเลือกเพียงคนเดียว หรือบางหัวข้ออาจมีนักเรียนเลือกมากจนต้องแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย)  ต้องทำการออกแบบและทดลองหาคำตอบโดยแต่ละกลุ่มจะมีครูพี่เลี้ยงและนักศึกษาพี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษา  ดังนั้นอาจมีนักเรียนบางกลุ่มต้องออกพื้นที่ไปเก็บตัวอย่างอีกครั้ง เช่น ต้องไปเก็บรากไม้ในป่าชายเลนมาศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์ หรือบางกลุ่มอาจต้องไปทำการทดลองนอกสถานที่ เช่น กลุ่มที่ต้องการศึกษาชนิดของสิ่งมีชีวิตในป่าชายเลน เป็นต้น  ขณะที่นักเรียน และครูพี่เลี้ยงร่วมกันออกแบบการทดลอง  คณะผู้จัดค่ายอีกกลุ่มหนึ่งต้องเตรียมจัดอุปกรณ์และสารเคมีที่จำเป็นสำหรับใช้ในการทดลองของกลุ่มวิจัยแต่ละกลุ่ม  จะเห็นว่า กิจกรรมในวันนี้ค่อนข้างหนักพอสมควร อย่างไรก็ตามหากมีการวางแผนที่ดีและมีประสบการณ์ในการทำค่ายในลักษณะนี้  ส่วนใหญ่จะผ่านปัญหาและอุปสรรคต่างๆไปได้ด้วยดี 

 กิจกรรมวันที่ 3  ช่วงเช้าเป็นเวลาของการเขียนรายงานและเตรียมตัวนำเสนอผลการทดลอง  รูปแบบของรายงานประกอบด้วย ชื่อหัวข้อวิจัย สมมติฐาน อุปกรณ์สารเคมี วิธีการทดลอง ผลการทดลอง อภิปรายและสรุปผลการทดลอง ทั้งนี้นักเรียนบางกลุ่มอาจทำการทดลองเสร็จตั้งแต่วันที่สองซึ่งสามารถเขียนรายงานได้ในช่วงกลางคืน  หรือบางกลุ่มอาจทดลองไม่เสร็จต้องใช้เวลานี้ทำการทดลองต่อ ดังนั้นครูพี่เลี้ยงต้องคอยให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสม  สำหรับรูปแบบการนำเสนออาจเป็นการบรรยายพร้อมฉายแผ่นใสหรือการใช้โปรแกรมนำเสนอจากคอมพิวเตอร์  คณะผู้จัดค่ายจึงต้องเตรียมสิ่งเหล่านี้ไว้อำนวยความสะดวกแก่นักเรียน  

ส่วนในช่วงบ่าย เป็นช่วงเวลาสำคัญเพราะถือเป็นเวลาที่ทุกคนรอคอยเนื่องจากนักเรียนแต่ละคน(กลุ่ม)จะได้นำเสนอผลงานของตนเองและรับฟังผลการทดลองของเพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ โดยมีการเปิดโอกาสให้มีการซักถามแลกเปลี่ยนความรู้ได้อย่างเต็มที่

เมื่อการนำเสนอของนักเรียนจบลง  ตัวแทนของคณะผู้จัดค่าย หรือตัวแทนครูอาจารย์แต่ละสาขาวิชาจะเป็นผู้กล่าวสรุปโดยชี้แนะให้นักเรียนเห็นว่า  จากการเข้าค่ายตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย  นักเรียนได้ฝึกทักษะระเบียบวิธีการทางวิทยาศาสตร์เริ่มจากการสังเกต  ระบุปัญหา ตั้งสมมติฐาน การทดลองเพื่อตรวจสอบสมมติฐาน สรุปผลและนำเสนอ  พร้อมทั้งชี้แจงให้นักเรียนเห็นว่า สิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเรา สามารถนำมาเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ทั้งหมด เช่น สถานที่ที่นักเรียนไปศึกษาในวันแรก แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงระหว่างวิชาการและชีวิตประจำวัน ตลอดจนการบูรณาการระหว่างวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์ และสังคม ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างมีความเกี่ยวพันกัน  การจัดค่ายลักษณะนี้จึงได้ชื่อว่า “ค่ายวิทยาศาสตร์แบบองค์รวม” 

จะเห็นได้ว่าค่ายวิทยาศาสตร์แบบองค์รวมเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองและนำความรู้ที่ได้ไปบูรณาการในการดำรงชีวิต  จึงขอเชิญชวนเพื่อนครู สควค. ได้ลองนำวิธีการนี้ไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม  ซึ่งอาจนำไปสู่การค้นพบวิธีการสอนใหม่ๆ อันเป็นการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงแก่นักเรียน ผู้ซึ่งเป็นอนาคตของชาติต่อไป

ที่มา : วารสาร สคค. ฉบับที่ 4 หน้าที่ 10-11 เขียนโดยบัวหลวง   ฝ้ายเยื่อ สควค.รุ่น 6 ครูวิชาการ ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม  



Leave a Comment