ปัจจุบันซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลังในประเทศไทยถูกค้นพบในเกือบทุกภาค และมีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ เพื่อให้นักบรรพชีวินใช้สำหรับศึกษาวิจัย การที่เราพบซากดึกดำบรรพ์กระจายอยู่ในเกือบทุกภาค แสดงว่า ประเทศไทยมีแหล่งขุดค้นที่มีศักยภาพ และน่าสนใจในการศึกษาพัฒนารู้องค์ความรู้ด้านบรรพชีวินวิทยา โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พบซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลัง และไม่มีกระดูกสันหลัง อยู่ในหลายพื้นที่ เช่น แหล่งขุดค้นโคกผาส้วม อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี มีรายงานการค้นพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์ มีกระดูกสันหลังจำนวนมาก อาทิ ไดโนเสาร์ เต่า ฉลามน้ำจืด ปลากระดูกแข็ง เป็นต้น
คุณครูโครงการครุวิจัยไดโนเสาร์ ของศูนย์วิจัยภูกุ้มข้าว จ.กาฬสินธุ์ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ผู้วิจัยจึงมีความสนใจศึกษาความถี่และความชุกชุมของซากดึกดำบรรพ์แต่ละกลุ่มที่พบในแหล่งขุดค้นโคกผาส้วม ซึ่งผลจากการศึกษาครั้งนี้จะทำให้เราทราบถึงความถี่และความชุกชุมของซากดึกดำบรรพ์ที่พบในแหล่งขุดค้นนี้ และสามารถอธิบายถึงระบบนิเวศวิทยาโบราณได้อีกด้วย
ผู้วิจัยได้ศึกษาจากตัวอย่างที่ได้สำรวจ 26 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538-2548 และ ปี ค.ศ.2551 และเก็บรวบรวมไว้ที่คลังเก็บตัวอย่างพิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณีภูกุ้มข้าว อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ นำตัวอย่างมานับจำนวน โดยแยกนับจำนวนชิ้นตามกลุ่มของซากดึกดำบรรพ์ที่พบจากชิ้นตัวอย่างที่มีทั้งหมด (นับเฉพาะที่สามารถระบุได้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใด) และนับความถี่ของการพบซากดึกดำบรรพ์แต่ละกลุ่มจากการสำรวจในแต่ละครั้งแล้วนำข้อมูลที่ได้คำนวณหาความถี่ และความชุกชุม
ผลการวิจัยพบว่า ในแหล่งขุดค้นนี้พบซากดึกดำบรรพ์ของสิ่งมีชีวิต จำนวน 5 กลุ่ม คือ ปลากระดูกแข็ง ฉลามน้ำจืด จระเข้ เต่า ไดโนเสาร์ ซึ่งซากดึกดำบรรพ์ของปลากระดูกแข็งที่พบ เป็นเกล็ดและ แผ่นกระดูก จำนวนทั้งสิ้น 4,465 ชิ้น และบางชิ้นสามารถระบุได้ว่าเป็นเกล็ดปลา lepidotes ซากดึกดำบรรพ์ของฉลามน้ำจืดที่พบเป็นชิ้นสวนของฟัน และ spine จำนวน 182 ชิ้น และบางชิ้นสามารถระบุได้ว่าเป็นฟันของ Hybodus sp., Heteroptychodus aff. Steinmanni,, Thaiodus ruchae, และ Acrorhizodus khoratensis ซากดึกดำบรรพ์ของจระเข้ที่พบเป็นชิ้นส่วนของฟันและ Scutes จำนวน 58 ชิ้น ซากดึกดำบรรพ์ของเต่าโบราณที่พบเป็นชิ้นส่วนกระดอง จำนวน 959 ชิ้น ซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ที่พบเป็นชิ้นส่วนของฟันและ กระดูกจำนวน 199 ชิ้น ฟันและกระดูกบางชิ้นสามารถระบุได้ว่าเป็นของ Siamosaurus suteethorni, Iguanodon, Theropod, Sauropod, Therosuar, Carnosuar, จากการศึกษาความถี่ของซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังในแหล่งโคกผาส้วม พบความถี่ของไดโนเสาร์ > ฉลามน้ำจืด > เต่า > ปลากระดูกแข็ง > จระเข้ ตามลำดับจากการศึกษาความชุกชุมของซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังในแหล่งโคกผาส้วม เราสามารถจัดระดับความชุกชุม ได้ว่ากลุ่มปลากระดูกแข็งมีค่าความชุกชุมร้อยละ 76 จัดอยู่ในระดับชุกชุมมาก กลุ่มฉลามน้ำจืดมีค่าความชุกชุมเท่ากับร้อยละ 3 กลุ่มจระเข้มีค่าความชุกชุมเท่ากับร้อยละ 1 กลุ่มเต่ามีค่าความชุกชุมเท่ากับร้อยละ 17 กลุ่มไดโนเสาร์ มีค่าความชุกชุมเท่ากับร้อยละ 3 ซึ่ง ทั้ง 4 กลุ่มจัดอยู่ในระดับชุกชุมน้อย
จากการศึกษาในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าแหล่งขุดค้นโคกผาส้วม อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี เคยเป็นแหล่งน้ำมาก่อน โดยมีสัตว์มีกระดูกสันหลังจำพวกปลากระดูกแข็ง ฉลามน้ำจืด จระเข้ และเต่า และมีกลุ่มของไดโนเสาร์อาศัยอยู่โดยรอบ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นี้ ก็เกิดขึ้นในยุคบรรพกาลและไม่ใช่สิ่งมีชีวิตในยุคปัจจุบันซึ่งผู้วิจัยไม่ได้เห็นด้วยตนเอง ค่าที่ได้อาจคลาดเคลื่อน แต่ก็เป็นข้อมูลที่ถือว่าใช้ได้ในขณะนี้ ขอขอบพระคุณ ดร.วราวุธ สุธีธร ที่ให้ความรู้และข้อเสนอแนะในการทำวิจัย ขอบพระคุณ สสวท.และ สกว.ที่สนับสนุนและให้โอกาสในครั้งนี้
ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 11 หน้าที่ 9 เขียนโดย ครูอณุสรา พลหาร ครุวิจัยไดโนเสาร์ สควค.รุ่น 10 ครู ร.ร.เพ็ญพิทยาคม จ.อุดรธานี