รอยตีนไดโนเสาร์ เป็นซากดึกดำบรรพ์ที่บอกถึงการปรากฏตัวบนโลกของสัตว์เลื้อยคลานโบราณที่เรียกว่า ไดโนเสาร์ ได้พบแหล่งรอยตีนของสัตว์ในอดีตมากมายล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มีค่า ซึ่งรอยตีนเป็นสิ่งที่ทำให้เราทราบถึงรูปร่างภายนอกของสัตว์ ทำให้นักโบราณชีววิทยาสามารถสร้างภาพ ไดโนเสาร์เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ได้ ซากไดโนเสาร์ที่พบส่วนใหญ่มักเป็นซากกระดูก การสร้างภาพจากโรงกระดูกไม่ใช่ของง่าย ภาพที่สร้างอาจผิดไปจากของจริงอย่างสิ้นเชิงได้ นอกจากนี้แล้วรอยตีนยังเป็นเครื่องชี้นำให้เราทราบถึงเรื่องราวในอดีตของโลกเราอีกด้วย
จากความสำคัญของรอยตีนไดโนเสาร์ดังกล่าวจะทำให้เราเข้าใจเรื่องราวของไดโนเสาร์มากยิ่งขึ้น แต่ยังไม่มีข้อมูลการเปรียบเทียบรอยตีนไดโนเสาร์กับสัตว์ปีกปัจจุบัน เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างรอยตีนกับความยาวของลำตัวของไดโนเสาร์ หากนำข้อมูลรอยตีนสัตว์ปีกในปัจจุบันมาเปรียบเทียบน่าจะทำให้ได้ค่าคงที่เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการสร้างภาพไดโนเสาร์เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ได้
รอยตีนและแนวรอยตีน แต่ละลักษณะให้ข้อมูลที่บอกให้ทราบถึงขนาดและลักษณะการเคลื่อนไหวของไดโนเสาร์ได้ รอยตีนหลายๆ รอยที่ปะกอบกันเป็นแนวรอยตีน จะบ่งบอกลักษณะการเคลื่อนไหวจากการก้าวเท้าต่อเนื่องกันหลายๆ ก้าวของไดโนเสาร์ แนวรอยตีนจะเป็นภาพการเคลื่อนไหวของไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์กว่ารอยตีนเดี่ยวๆ และช่วยให้เห็นท่วงท่า การย่างก้าว และอัตราความเร็วได้อย่างครบถ้วน รอยตีนเดี่ยวจึงเปรียบได้กับภาพนิ่ง ส่วนแนวรอยตีนก็เปรียบเหมือนภาพยนตร์หรือภาพชุด แนวรอยตีนจะช่วยให้ทราบว่า เจ้าของรอยตีนนั้นเป็นสัตว์ใหญ่หรือเล็ก และเดินด้วยสองตีน หรือสี่ตีน ไดโนเสาร์บางประเภท เช่น เทอโรพอดที่กินเนื้อ และออร์นิโธพอด เป็นไดโนเสาร์ที่เดิน 2 ตีน ในขณะที่บรอนโตซอร์และไดโนเสาร์พวกที่มีแผงเกราะ มีเกล็ดแข็งและมีเขา เป็นไดโนเสาร์ที่เดินสี่ตีน ไดโนเสาร์ส่วนใหญ่จะมีเท้าหน้าเล็กกว่าเท้าหลังมาก
ดังนั้น การศึกษารอยตีนต้องทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ อีกมาก นอกเหนือจากรูปทรงสัณฐาน การวัดแนวรอยตีนหรือการนับรอยนิ้วตีนและการจัดทำรายการรูปร่างนิ้วตีน ส่วนของรอยตีนหรือรอยทางเดินอาจพบว่ามีรูปทรงไม่ชัดเจนเหมือนภาพที่อยู่ในตำราเรียน การได้มีโอกาสพินิจพิเคราะห์ เก็บรวบรวมข้อมูลหลักฐานที่พบจริงในทุกสภาพทุกลักษณะที่ปรากฏจะสามารถทำให้เรารู้ข้อมูลเกี่ยวกับร่องรอยนั้นได้
ปริศนาไดโนเสาร์ที่ทิ้งไว้เพียงร่อยรอยบนแผ่นหินริมลำธารกลางวนอุทยานภูแฝก จ.กาฬสินธุ์ จะสามารถบอกเรื่องราวอะไรเกี่ยวกับเจ้าของรอยนี้ได้บ้าง? การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรอยตีนดึกดำบรรพ์กับความยาวลำตัวของไดโนเสาร์ที่ภูแฝก โดยหาความสัมพันธ์ระหว่างรอยตีนของสัตว์ปีกในปัจจุบันกับขนาดลำตัว แล้วนำความสัมพันธ์ที่ได้ไปคำนวณหาขนาดลำตัวจากรอยตีนของไดโนเสาร์ที่วนอุทยานภูแฝก เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่
ผลการวิจัยในกลุ่มตัวอย่างสัตว์ปีก ได้แก่ ลูกไก่ ไก่ชน นกยูง และ ไก่งวง พบว่าสัดส่วนความยาวของตีน ความสูงจากส้นตีนถึงสะโพก และความยาวลำตัวมีความสัมพันธ์กันทั้งสัดส่วนที่คงที่และสัดส่วนที่แตกต่างกันซึ่งเกิดจากความแตกต่างของวัยด้วย และเมื่อนำความสัมพันธ์ของสัดส่วนของกลุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบกับไดโนเสาร์กลุ่มไทรันโนซอริเดพบว่ามีความใกล้เคียงกัน
สรุปได้ว่า การศึกษาอัตราส่วนในสัตว์ปัจจุบันทำให้เราพบว่าขนาดของร่างกายแต่ละส่วนมีความสัมพันธ์กันไม่เพียงแต่ในสัตว์ชนิดเดียวกัน แต่ยังมีความสัมพันธ์ในระดับต่างชนิด รวมถึงสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปนานมากแล้วอย่างไดโนเสาร์ อาจจะเป็นไปได้ว่าสัดส่วนเหล่านี้มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ ตัวอย่างเช่น ช่วยในการสร้างความสมดุลของร่างกาย เพื่อความได้เปรียบในการเคลื่อนที่ได้รวดเร็วขึ้น
ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 16 หน้าที่ 7 เขียนโดย ครูณรงค์ฤทธิ์ ประเสริฐสุข สควค.รุ่น 5 ครู ร.ร.บ้านทรัพย์สมบูรณ์ จ.ขอนแก่น (บุคคลในภาพ)
หมายเหตุ : คำว่า “รอยตีน” เป็นคำเรียกที่ถูกต้องสำหรับการศึกษาเรื่อง รอยตีนของสัตว์ (จะไม่เรียกว่า รอยเท้า) และเป็นคำสุภาพสำหรับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์