KruSmart : ครูผู้สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ : ร่วมกันก้าวหน้า ทำการศึกษาคุณภาพ

มหัศจรรย์แห่งวิวัฒนาการ เรียนรู้ความเป็นนักวิทยาศาสตร์จากเจ้าของทฤษฎีวิวัฒนาการ [200 ปี ชาร์ล ดาร์วิน]

12 กุมภาพันธ์ 2552 เป็นวาระครบรอบ 200 ปีเกิดของชาร์ลส์  โรเบิร์ต  ดาร์วิน  และครบรอบ 150 ปี ของการตีพิมพ์หนังสือกำเนิดสปีชีส์ (The origin of Species) (หนังสือตีพิมพ์เดือนพฤศจิกายน 2402) ซึ่งจุดประกายแนวคิด ทฤษฎีวิวัฒนาการผ่านการคัดสรรตามธรรมชาติ  จากการสังเกต สืบค้น ทดลอง วิเคราะห์มายาวนานกว่า 20 ปี และเป็นผู้เสนอ “กลไก” การเกิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ ได้อย่างถูกต้องและชัดเจนเป็นครั้งแรกของโลก  กระทั่งทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใดๆ มาหักล้างได้ 

ชาร์ลส์ ดาร์วิน  เกิดในครอบครัวใหญ่ โดยเขาเป็นลูกชายคนที่ 6 ของครอบครัว มีพ่อเป็นแพทย์และคหบดีฐานะดีคือคุณหมอ โรเบิร์ต ดาร์วิน (Robert Darwin) ส่วนแม่คือ ซูซานนาห์ เวดจ์วูด (Susannah Wedgwood) ในวัยเยาว์ดาร์วิน ถูกมองว่าเป็น “เด็กไม่เอาถ่าน” เพราะไม่ฝักใฝ่ในการเรียนนัก และชอบกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น ยิงนก ตกปลา แต่กระนั้น ดาร์วิน ก็สามารถสอบเข้าศึกษาวิชาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ (Edinburgh University)ได้ด้วยคะแนนที่ดีในหลายวิชา  หากแต่ว่าการเข้าห้องผ่าตัดเพียงครั้งแรกกลับทำให้ดาร์วินมีอาการหน้ามืด อาเจียน เป็นลม  และค้นพบว่าตนเองอาจไม่เหมาะต่อสายอาชีพนี้ ในที่สุดดาร์วินจึงตัดสินใจผันตนเองเข้าศึกษาด้าน “เทววิทยา (theology)” ที่มหาวิทยาลัย เคมบริดจ์ ซึ่งที่นี่เองที่ทำให้ ดาร์วิน ได้มีโอกาสพบและสนิทสนมกับท่านสาธุคุณจอห์น เฮนสโลว์(John Henslow)  ศาสตราจารย์ทางพฤกษศาสตร์ ผู้ที่ได้ผันชะตาชีวิตของดาร์วิน ครั้งใหญ่ เมื่อ ศ.เฮนสโลว์ได้เสนอชื่อของดาร์วินให้ร่วมเดินทางรอบโลกไปกับเรือบีเกิลในฐานะนักธรรมชาติวิทยาประจำเรือ

 เรือหลวงบีเกิ้ลของกองทัพเรือแห่งสหราชอาณาจักรออกเดินทางเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 1831  และใช้เวลาในการเดินทางรอบโลกเป็นเวลา 4 ปี 9 เดือน 5 วัน (ค.ศ. 1831 – 1836) ซึ่งตลอดระยะเวลาการเดินทาง ดาร์วินได้สังเกตเห็นความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ได้บันทึกข้อมูลที่พบเห็นจากสิ่งมีชีวิตต่างๆ มีการเก็บตัวอย่างที่น่าสนใจส่งไปให้นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญศึกษาระหว่างการเดินทาง รวมทั้งยังได้เก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตและซากบรรพชีวินที่ขุดค้นพบมาศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หมู่เกาะกาลาปากอส (Galapagos Islands) ของประเทศเอกวาดอร์ในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยหมู่เกาะย่อยๆ จำนวนหนึ่ง ที่อยู่ห่างไกลจากกันมากพอที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตในแต่ละเกาะไม่สามารถไปมาหาสู่กันได้ ทั้งยังตั้งอยู่ในตำแหน่งที่มีการไหลเวียนและระดับอุณหภูมิร้อนเย็นของน้ำทะเลจำเพาะ เป็นผลให้สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดบนแต่ละเกาะมีรูปแบบที่ต่างกันไปเล็กๆ น้อยๆ ซึ่ง ดาร์วิน ก็ได้สังเกตพบเห็นสิ่งเหล่านี้เช่นกัน

ดาร์วินสังเกตเห็นความแตกต่างของสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์เดียวกันบนเกาะที่ต่างกันในหมู่เกาะกาลาปากอส เช่น เขาพบว่า นกฟินช์ (finch) หรือ นกจาบปีกอ่อน ในแต่ละเกาะย่อยกาลาปากอสมีรูปทรงของจะงอยปากที่มีขนาดใหญ่เล็ก มีความเรียวยาว หรือกว้างใหญ่ที่แตกต่างกันไปเล็กน้อย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชนิดของอาหารที่กิน  เช่น แมลง หรือเมล็ดผลไม้เปลือกแข็งต่างๆ เป็นต้น ซึ่งดาร์วินเชื่อว่าความแตกต่างเพียงเล็กน้อยที่เหมาะสมกับปัจจัยแวดล้อมต่างๆในขณะนั้น คือสิ่งที่จะมีผลต่อโอกาสการอยู่รอด รวมทั้งการผลิตลูกหลานให้อยู่รอดต่อไปของสิ่งมีชีวิต  ดังเช่น ในยามที่เกิดการขาดแคลนอาหารขึ้นบนเกาะ นกฟินซ์ที่มีจงอยปากที่ใหญ่และแข็งแรงกว่าจะอยู่รอดได้ดีกว่า เพราะสามารถกินเมล็ดพืชเปลือกแข็งได้ดีกว่า ในขณะที่นกฟินซ์ที่มีจงอยปากที่ใช้งานได้ไม่ดีเท่า จะมีโอกาสในการอยู่รอดน้อยกว่า เป็นต้น

จากแนวคิดของโทมัส มัลทัส นักทฤษฎีประชากรที่เสนอสมมุติฐานไว้ว่า สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีความสามารถสืบพันธุ์สูงทำให้ประชากรมีการเพิ่มแบบทวีคูณ ขณะที่ทรัพยากรมีการเพิ่มอย่างจำนวนอย่างจำกัด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นทรัพยากรจะไม่มีทางเพียงพอต่อสิ่งมีชีวิต แต่ความเป็นจริงในธรรมชาติประชากรกับทรัพยากรกลับอยู่ได้อย่างสมดุล  จึงทำให้ดาร์วินเชื่อมั่นว่าการคัดสรรตามธรรมชาติ คือ กลไกที่ควบคุมวิวัฒนาการและการก่อกำเนิดของสิ่งมีชีวิต

นอกจากนี้ จากหลักฐานทางบรรพชีวินยังแสดงให้เห็นว่าชนิดพันธุ์ที่มีความใกล้ชิดกันมักจะพบอยู่ในชั้นหินต่อเนื่องกัน หรือหากชนิดพันธุ์ใดที่มีการสูญพันธุ์ไปหลายล้านปีแล้ว ในชั้นหินถัดมาก็จะพบชนิดพันธุ์ที่คล้ายกัน ซึ่งดาร์วินเชื่อว่าความต่อเนื่องของลักษณะที่ปรากฏ อาจเพราะมีความสัมพันธ์หรือได้รับการถ่ายทอดกันทางสายวิวัฒนาการ  ซึ่งทั้งหมดนี้นับเป็นเพียงส่วนหนึ่งของหลักฐานที่นำเขาไปสู่การนำเสนอแนวคิดใหม่ทางชีววิทยาคือ “ทฤษฎีวิวัฒนาการผ่านการคัดสรรตามธรรมชาติ” (Evolution theory by natural selection)

แม้ดาร์วินจะค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการซึ่งเต็มไปด้วยหลักฐานและคำอธิบายที่แน่ชัด แต่ด้วยในยุคที่เคร่งครัดต่อศาสนาอย่างยิ่ง ทำให้ดาร์วินลังเลและกังวลที่จะประกาศทฤษฎีอันท้าทายต่อกฎของธรรมชาตินี้ได้ เขาจึงเก็บเงียบไว้ตามลำพัง กระทั่งนักธรรมชาติวิทยาหนุ่มคนหนึ่งในยุคนั้นคือ อัลเฟรด วอลเลซ (Alfred Wallace) ได้ส่งต้นฉบับการค้นพบแนวคิดเรื่องกลไกการเกิดสิ่งมีชีวิตโดยการคัดสรรตามธรรมชาติ ที่คล้ายคลึงกับแนวคิดของดาร์วินที่กำลังศึกษาอยู่มาให้เขาอ่าน  ทว่าด้วยความกล้าต่อการเผชิญปัญหาและความมีจริยธรรมอันสูงส่งของดาร์วิน เขาจึงตัดสินใจนำเสนอทฤษฎีวิวัฒนาการของเขาและวอลเลซ ในการประชุมของ สมาคมลินเนียน (The Linnean Society) ซึ่งเป็นสมาคมสำคัญยิ่งในยุคนั้น ในวันที่ 1 ก.ค. 1858  ซึ่งทำให้ทั้งคู่ได้รับชื่อในฐานะผู้ค้นพบทฤษฎีดังกล่าวร่วมกัน และในปีต่อมาดาร์วินได้ตีพิมพ์หนังสือ ที่มีชื่อว่า  หนังสือที่ว่าด้วยการกำเนิดของชนิดพันธุ์ด้วยกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ หรือการดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ที่เหนือกว่าในการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด (On the origin of Species by Means of Natural Selection, or the Preservation of Favoured Races in the struggle for Life) เพื่อขยายความแนวคิดและให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัยที่ศึกษากว่า 20 ปี ในขณะที่วอลเลซก็ไม่ได้มีความก้าวหน้าด้านงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้  จึงทำให้ทฤษฎีวิวัฒนาการกลายเป็นผลงานชิ้นเอกของชาร์ลส์ ดาร์วิน ตราบจนทุกวันนี้

ดร.นำชัย  ชีววิวรรธน์  กล่าวเพิ่มเติมว่า ทฤษฎีวิวัฒนาการ อันเป็นผลผลิตทางความคิดของดาร์วินไม่เพียงมีประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปทุกสาขาวิชาทั้ง ศิลปะ สังคม เป็นต้น ซึ่งในช่วง 150 ปีที่ผ่านมาทฤษฎีวิวัฒนาการได้นำไปสู่องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ทำให้เราเข้าใจต่อสิ่งมีชีวิตในโลกมากขึ้น มีการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ๆ ทั้งยังก่อให้เกิดสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆอีกมากมาย อาทิ พันธุศาสตร์ประชากร ชีววิทยา ชีวเคมี ชีววิทยาระดับโมเลกุล  เป็นต้น

“ สิ่งสำคัญคือความรู้หรือหลักฐานใหม่ๆ ที่ค้นพบเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเหล่านี้ ไม่มีข้อมูลใดที่โต้แย้งทฤษฎีวิวัฒนาการได้เลย แต่กลับช่วยทำให้ภาพของทฤษฎีวิวัฒนาการมีความคมชัดมากยิ่งขึ้น เพราะแม้แต่สิ่งที่ไม่คิดว่าจะเกี่ยวข้องได้ อย่างศาสตร์ด้านพันธุกรรมที่มาไกลจนกระทั่งในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์สามารถถอดรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ได้สำเร็จ และยังพบว่ารหัสพันธุกรรมของมนุษย์มีความแตกต่างจากลิงชิมแพนซีเพียง 0.1% เท่านั้น ก็ล้วนสนับสนุนต่อทฤษฎีวิวัฒนาการ จนไม่แน่ว่าทฤษฎีวิวัฒนาการอาจจะกลายเป็น ข้อเท็จจริงในอนาคต”

อย่างไรก็ดี สำหรับวาระครบรอบ 200 ปีเกิดของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน และครบรอบ 150 ปีทฤษฎีวิวัฒนาการ  หลายประเทศทั่วโลกต่างก็เตรียมกิจกรรมที่เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น โครงการทำแบบจำลอง เรือบีเกิ้ล (Beagle) ขนาดเท่าจริงตามแบบดั้งเดิมและจะใช้แล่นรอบโลกจริงๆตามเส้นทางที่เรือบีเกิ้ลในอดีตเคยแล่นอีกด้วย(http://thebeagleproject.com/)   ขณะที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้มีการนำข้อเขียนและผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์ทั้งหมดของดาร์วิน ตลอดจนเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเขา ขึ้นแสดงไว้บนอินเทอร์เน็ตในเว็บไซต์ดาร์วินออนไลน์ http://darwin-online.org.uk/ และสำหรับคนไทยสามารถเข้าร่วมกิจกรรมและชมนิทรรศการได้ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)

นางฤทัย  จงสฤษดิ์  นักวิชาการจากศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม กล่าวว่า “ ชาร์ลส์ ดาร์วิน นับเป็นบุคคลที่น่ายกย่องและมีคุณสมบัติที่ควรถือเป็นแบบอย่างสำหรับเยาวชนอย่างมาก  นั่นคือ การเป็นผู้ใฝ่รู้ และมุ่งมั่นทำในสิ่งที่ใจรักอย่างจริงจัง  ในสมัยวัยเยาว์เด็กชายดาร์วิน จะกระตือรือร้นและชอบเล่นอยู่กับนก ไส้เดือน ต้นไม้ มด  ก้อนหิน  ชอบสะสมเปลือกหอย เปลือกไข่มาก แม้กระทั่งตอนที่ดาร์วิน อายุห้าสิบกว่าเขาก็ยังสนุกกับการคอยเฝ้าดูสิ่งรอบตัวเป็นชั่วโมง เช่น การเดินของมด นอกจากนี้ ดาร์วินยังมีคุณสมบัติของนักวิทยาศาสตร์ที่ดีอย่างครบถ้วน เขาเป็นคนช่างสังเกต ช่างสงสัย ชอบตั้งคำถาม และมีความละเอียดลออ รอบคอบต่อการจดบันทึกเป็นอย่างดี ขณะที่ยามว่างดาร์วินจะอ่านหนังสือเสมอ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือธรณีวิทยา  ธรรมชาติวิทยา ฯลฯ ซึ่งคุณสมบัติที่ดีเหล่านี้เองที่จะถูกดึงมาใช้ในการสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อจุดประกายความเป็นนักวิทยาศาสตร์ผ่านชีวิต “ชาร์ลส์ ดาร์วิน” ให้แก่เยาวชนไทย”

ดังนั้น ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สวทช. จึงจัดกิจกรรม “เปิดโลกมหัศจรรย์แห่งวิวัฒนาการ” เพื่อร่วมเฉลิมฉลองปีแห่งวิวัฒนาการที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร จังหวัดปทุมธานี ตลอดปี 2552 ประกอบด้วย

1. กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์  โดยจะคัดเลือกเยาวชนที่มีความสนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อฝึกฝนกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สร้างความรู้ความเข้าใจด้านวิวัฒนาการ เช่น ค่ายประชุมสุดยอดนักวิวัฒนาการรุ่นเยาว์ครั้งที่ 1จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23-25 มีนาคม 2552 ค่ายนี้นักวิวัฒนาการรุ่นเยาว์จะส่งโครงงานวิทยาศาสตร์เข้าร่วมประกวดในหัวข้อ “การศึกษาวิวัฒนาการในชุมชนที่ฉันอยู่” มีโครงงานที่ผ่านเข้ารอบจำนวน 20 โครงงาน มี 3 โครงงานเด็ดโดนใจได้รับรางวัล ดังนี้

อันดับ 1. ได้แก่ โครงงานกุดจี่ขี้ควายกับควายบ้าน 2. โครงงานหม้อข้าวหม้อแกงลิง และ 3. โครงงานแมงป่องแส้กับจิ้งหรีด โดย น.ส.วิภาภรณ์ คงนรัตน์,น.ส.เพ็ญนภา อัตะนัย และนายสุรศักดิ์ นนธิจันทร์ จากโรงเรียนนารายณ์คำผงวิทยา จ.สุรินทร์ น้องๆทีมกุดจี่อีสาน เจ้าของโครงงานโครงงานกุดจี่ขี้ควายกับควายบ้าน กล่าวว่า “โครงงานนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากในชุมชน ที่ควายบ้านและแมงกุดจี่มีความสำคัญอย่างมาก แม้จะเป็นสิ่งเล็กๆในชีวิตประจำวันแต่มีคุณค่าในแง่สมดุลของธรรมชาติ สิ่งที่ได้รับจากการเข้าค่ายประชุมสุดยอดนักวิวัฒนาการรุ่นเยาว์ครั้งนี้ ทำให้ได้รับความรู้และได้เห็นงานที่นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยทำให้กับประเทศ เกิดความสนใจ และรักที่จะเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพราะวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา และมีเรื่องที่สนใจให้เราทำได้มากมาย” แม้ว่าโครงงานวิทยาศาสตร์อื่นๆที่จะไม่ได้รับรางวัล แต่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน อย่างน้องๆจากภาคใต้ ทีมค้างคาวกับต้นลำพู น.ส.อชิรญา ยังทรัพย์,น.ส.สุพรรษา พงศ์ติวัฒนากุล และ น.ส.อรวรรณ ใจหาญ โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย บอกว่า “เนื่องจากชุมชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ต ทุกวันนี้ปริมาณของป่าชายเลนมีจำนวนลดลง และปัจจัยที่จะช่วยเพิ่มปริมาณของป่าชายเลนได้นั้น ต้องอาศัยค้างคาวเล็บกุด ที่ทั้งสองอย่างมีวิวัฒนาการในการปรับตัวเข้าหากัน เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันไว้”

2. นิทรรศการแบบอินเตอร์แอคทีฟ   เยาวชนและผู้ที่สนใจทั่วไป เพื่อจุดประกายความเป็นนักวิทย์ผ่านชีวิตชาร์ลส์ ดาร์วิน และนักวิทยาศาสตร์ไทย

3. กิจกรรมจุดประกายความรู้กับนักวิทยาศาสตร์ไทย  โดยจะเปิดโอกาสให้เยาวชนได้พบกับสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ที่มีประสบการณ์ด้านวิวัฒนาการและความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น ดร. วราวุธ สุธีธร ผู้ค้นพบฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของประเทศไทย     ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นสาขาพันธุศาสตร์  รศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ผู้บุกเบิกความรู้ด้านอนุกรมวิธานหอยทากในประเทศไทย   ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักสมุทรศาสตร์ที่พ่วงท้ายสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ทะเลไทย เป็นต้น

สนับสนุนข้อมูลโดย  :  ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย  สวทช. สอบถามเพิ่มเติม : โทร 02-564-7000 ต่อ 1483-4
ที่มา :  วารสาร สควค. ฉบับที่  10 หน้าที่  4-6 เรียบเรียงโดย นายศักดิ์อนันต์  อนันตสุข ครูโรงเรียนนารายณ์คำผงวิทยา จังหวัดสุรินทร์
ภาพประกอบจาก :
1. http://images.derstandard.at/t/12/20070209/darwin300.jpg
2. วารสาร สควค. ฉบับที่  10 หน้าที่  6 [-รออ้างอิงเพิ่มเติม-]

Exit mobile version