คุณเคยคุ้นเคยกับคำนี้บ้างไหม “โครงงานคอมพิวเตอร์” หลาย ๆ ท่านที่เป็นครูวิทยาศาสตร์มักจะคุ้นเคยกับคำว่า โครงงานวิทยาศาสตร์และมักจะใช้กระบวนการนี้บ่อยครั้งในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน แต่สำหรับครูคอมพิวเตอร์นั้นอาจจะเป็นคำใหม่ แต่แท้ที่จริงแล้วครูที่สอนวิชาคอมพิวเตอร์ได้ใช้กระบวนการนี้จนเคยชินแล้ว
1. โครงงานพัฒนาสื่อเพื่อการศึกษา (Educational Media) เป็นโครงงานที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการผลิตสื่อเพื่อการศึกษา โดยการสร้างโปรแกรมบทเรียน หรือหน่วยการเรียน ซึ่งอาจจะต้องมีภาคแบบฝึกหัด บททบทวนและคำถามคำตอบไว้พร้อม ผู้เรียนสามารถเรียนแบบรายบุคคลหรือรายกลุ่มก็ได้
2. โครงงานพัฒนาเครื่องมือ (Tools Development) เป็นโครงงานเพื่อพัฒนาเครื่องมือมาใช้ช่วยสร้างงานประยุกต์ต่าง ๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นในรูปแบบของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น ซอฟต์แวร์วาดรูป ซอฟต์แวร์พิมพ์งาน ซอฟต์แวร์ช่วยการมองวัตถุในมุมต่าง ๆ เป็นต้น
3. โครงงานประเภทการทดลองทฤษฎี (Theory Experiment) เป็นโครงงานใช้คอมพิวเตอร์ในการจำลอง การทดลองของสาขาต่าง ๆ เป็นโครงงานที่ผู้ทำต้องศึกษารวบรวมความรู้ หลักการ ข้อเท็จจริงและแนวความคิดต่าง ๆ แล้วเสนอเป็นแนวคิด แบบจำลอง หลักการ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของสมการ สูตร หรือคำอธิบายก็ได้ พร้อมทั้งนำเสนอวิธีการจำลองทฤษฎีด้วยคอมพิวเตอร์
4. โครงงานประเภทการประยุกต์ใช้งาน (Application) โครงงานประเภทนี้จะมีการประดิษฐ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หรืออุปกรณ์ใช้สอยต่าง ๆ ซึ่งอาจจะสร้างใหม่หรือปรับปรุงดัดแปลงของเดิมที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นก็ได้ จะต้องศึกษาและวิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้ก่อนแล้วนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการออกแบบ และพัฒนาสิ่งของนั้น ๆ ต่อจากนั้นต้องมีการทดสอบการทำงานหรือทดสอบคุณภาพของสิ่งประดิษฐ์แล้ว ปรับปรุงแก้ไขให้มีความสมบูรณ์
5. โครงงานพัฒนาเกม (Game Development) เป็นโครงงานพัฒนาซอฟต์แวร์เกม เพื่อความรู้ และ/หรือ ความเพลิดเพลิน ซึ่งเกมที่พัฒนาขึ้นนี้น่าจะเน้นให้เป็นเกมที่ไม่รุนแรง เน้นการใช้สมองเพื่อฝึกคิดอย่างมีหลักการ โครงงานประเภทนี้จะมีการออกแบบลักษณะและกฎเกณฑ์การเล่น เพื่อให้น่าสนใจแก่ผู้เล่น พร้อมทั้งให้ความรู้สอดแทรกไปด้วย
จะเห็นได้ว่า โครงงานคอมพิวเตอร์ ก็คือ การนำความรู้ ทักษะกระบวนการในการใช้คอมพิวเตอร์ในรูปแบบต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้กล้าคิด กล้าทำ และกล้าแสดงออกในการสร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเอง แต่จากประสบการณ์การสอนคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน ทำให้ได้ข้อคิดอย่างหนึ่งว่า การจะสอนให้นักเรียนทำโครงงานคอมพิวเตอร์นั้น ครูผู้สอนเองอย่าคาดหวังกับสิ่งที่นักเรียนคิดและทำมากจนเกินไป การสอนในลักษณะนี้เชื่อได้ว่า ในระยะแรก ๆ คงจะไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ทั้งนี้ต้องอาศัยทั้งประสบการณ์ของครูผู้สอน และการรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนในระหว่างการทำโครงงาน จึงจะส่งผลให้โครงงานคอมพิวเตอร์นั้นประสบความสำเร็จได้
เริ่มต้นของการสอนโครงงานคอมพิวเตอร์นั้นจะต้องให้นักเรียนลองพิจารณาตนเองจากความรู้เดิม หรือประสบการณ์ที่เคยใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างสรรค์ผลงานมาลองมาพิจารณาเปรียบเทียบดูว่า ตนเองยังขาดอะไร ยังต้องการเติมเต็มในส่วนไหน หลังจากนั้นให้มองในภาพกว้างต่อไปว่าตนเองถนัดในเรื่องของทำโครงงานในรูปแบบไหน จะเป็นสิ่งประดิษฐ์, ผลงาน หรือการเขียนโปรแกรม ครูหลาย ๆ ท่านคงคิดว่า คงจะปวดหัวน่าดู หากนักเรียนเลือก 10 อย่าง 10 ประเภทแล้วเราจะสอนอย่างไร
จริง ๆ นี่คือหลักการง่าย ๆ ของการคิดหัวข้อเรื่องเท่านั้น เมื่อนักเรียนเริ่มสนใจในสิ่งเดียวกัน เราก็ใช้วิธีการจับคู่แบบผสมผสาน นำไอเดียหรือความคิดของนักเรียนมาต่อยอดกัน แล้วให้นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมในงานชิ้นนี้ ทุกคนก็จะเห็นคุณค่าและร่วมกันคิด ร่วมกันทำในที่สุด เมื่อนักเรียนได้หัวข้อตามที่ตนเองต้องการนั้น ลองให้นักเรียนออกแบบแนวคิดทั้งหมดลงในกระดาษ เขียนในสิ่งที่ตนเองอยากจะทำให้ได้มากที่สุด หลังจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องใช้คำถามให้นักเรียนได้ฝึกคิดต่อว่า โครงงานคอมพิวเตอร์นั้นจะเป็นไปในทิศทางใด ในการสอนให้นักเรียนทำโครงงานนั้นครูผู้สอนอาจจะต้องคำนึงถึงศักยภาพในหลาย ๆ ด้านประกอบด้วยไม่ว่า จะเป็นงบประมาณ, ฐานความรู้ของผู้เรียน และองค์ความรู้ที่มีอยู่ของผู้สอน ซึ่งส่วนสุดท้ายนี้ถือว่า เป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ ครูอาจจะไม่สามารถถ่ายทอดในเรื่องนั้นให้กับนักเรียนได้ ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ตนเองไม่ถนัดก็ตาม แต่ครูก็สามารถจัดสื่อเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนได้เรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆ ต่อไป การกล้าพูดและแสดงความคิดเห็นระหว่างครูผู้สอนและผู้เรียนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โครงงานนั้น ๆ ขับเคลื่อนต่อไป
หลังจากที่นักเรียนเขียนในสิ่งที่ตนเองต้องการแล้ว ครูอาจจะต้องออกแบบกระบวนการเขียนเค้าโครงโครงงานให้นักเรียนได้เข้าใจอย่างง่าย ๆ โดยการนำสิ่งที่นักเรียนเขียนมาแปลงให้อยู่ในรูปแบบของคำพูดที่สามารถสื่อความหมายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ฝึกให้นักเรียนนำเสนอผลงานตามสิ่งที่ตนเองต้องการ โดยอาจจะให้ครูผู้สอนในรายวิชาอื่น ๆ ร่วมเป็นครูที่ปรึกษา หรือให้เพื่อน ๆ นักเรียนช่วยกันนำเสนอแนวคิดใหม่ ๆ ที่อาจจะทำให้ได้ผลงานที่แตกต่างและเป็นที่ยอมรับของคนในกลุ่มใหญ่ ๆ ในระหว่างที่นักเรียนสร้างสรรค์ผลงานอยู่นั้น คงจะเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนที่จะต้องมีการประเมินผลงานเป็นระยะๆ ซึ่งหากผู้เรียนเกิดปัญหาหรืออุปสรรคใด ๆ ที่ไม่สามารถดำเนินงานตามเค้าโครงที่ได้วางแผนไว้ ครูผู้สอนที่ได้ทราบเหตุผลจะหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป
เมื่อสิ้นสุดของการทำโครงงาน ครูผู้สอนอาจจะให้ผู้เรียนนำเสนอในรูปแบบของนิทรรศการเล็ก ๆ อาจจะจัดขึ้นเฉพาะในช่วงของกิจกรรมพักกลางวัน หรือจัดร่วมกับวันสำคัญต่าง ๆ ของกิจกรรมในโรงเรียน เพื่อเป็นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้กับบุคคลภายนอกได้รับทราบ ส่วนในการประเมินผลงานนั้น ครูผู้สอนจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ร่วมกันประเมินผลงานทั้งของตนเองและของผู้อื่น และในส่วนของเกณฑ์การให้คะแนนนั้นอาจจะมาจากสัดส่วนที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงในเบื้องต้นของการทำโครงงานว่า จะให้คะแนนในแต่ละส่วนเป็นอย่างไร ครูผู้สอนหลาย ๆ ท่านอาจจะมองว่า ในเมื่อนักเรียนทำงานนำเสนอที่คล้ายคลึงกันโดยอาจจะใช้โปรแกรมตัวเดียวกัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมแตกต่างกัน อย่างหนึ่งต้องยอมรับว่า นักเรียนที่ไม่ชอบวิชาคอมพิวเตอร์อาจจะทำโครงงานนั้น ๆ ไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าที่ควร แต่อย่าลืมว่า เกณฑ์ข้อหนึ่งที่จะนำมาช่วยในการตัดสินผลงานก็คือ นักเรียนสามารถทำได้ตามแผนที่กำหนดไว้หรือไม่ เพราะเค้าโครงหรือแผนงานที่นักเรียนกำหนดขึ้นนั้น จะเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งว่า ผู้เรียนทำงานได้เสร็จหรือไม่
ทั้งหมดนี้เป็นประสบการณ์อันเล็กน้อยที่ผู้เขียนได้พบเจอมาจึงขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านผู้อ่าน โครงงานคอมพิวเตอร์ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพียงแค่เพิ่มความใส่ใจและเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้เรียนเพียงเท่านี้ก็จะได้รู้ว่า ลูกศิษย์ของคุณไปได้ไกลมากกว่าที่คุณคิด
ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 6 หน้าที่ 10-11 เขียนโดย ครูกาญจนา ตุ่นคำแดง สควค.รุ่น 6 ครู ร.ร.แม่ปะวิทยาคม จ.ตาก
ภาพประกอบจาก : http://www.vcharkarn.com/uploads/220/220289.jpg