Animation คือ การแสดงภาพอย่างเร็วของชุดภาพนิ่งแบบสองมิติ ที่เกิดจากการเปลี่ยนตำแหน่งของวัตถุที่เราอยากให้เคลื่อนที่ โดยใช้หลักภาพลวงตาให้ดูเหมือนว่า ภาพนิ่งเหล่านั้นมีการเคลื่อนไหว โดยนำภาพนิ่งหลายภาพมาเล่นติดต่อกันด้วยความเร็ว 24 ภาพต่อหนึ่งวินาที โดยสามารถแบ่ง Animation ได้ 3 ประเภท ได้แก่
1. Traditional animation เป็นงาน Animation สมัยเริ่มแรกที่วาดด้วยมือทีละแผ่น แล้วใช้วิธี Flip (คล้ายกับการกรีดไพ่) เพื่อตรวจดูท่าทางของตัวละครที่วาด เช่น การ์ตูนเรื่อง โดราเอมอน จะกำหนดไว้ที่ 1 นาทีใช้ภาพ 12 เฟรม หรือมากกว่านั้น
2. Stop motion เป็นงานที่ Animator (ผู้ให้ชีวิต) ต้องยอมเมื่อยมือ เพื่อขยับรูปร่างท่าทางของส่วนประกอบเหล่านั้นทีละนิด แล้วใช้กล้องถ่ายไว้ทีละเฟรม แล้วนำภาพแต่ละเฟรมมาแสดงอย่างเร็วและต่อเนื่อง ซึ่งนับว่าเป็นงานที่ยาก ต้องอาศัยความรอบคอบและความอดทนสูงมาก ซึ่ง Claymation ก็เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งของการทำ Stop motion ซึ่งเป็นการใช้ดินน้ำมัน ขี้ผึ้ง หรือวัสดุใกล้เคียง โดยใส่โครงลวดไว้ด้านในเพื่อให้ดัดท่าทางได้ Stop motion แต่ละเฟรมจะถูกบันทึกด้วยกล้องดิจิตอลอย่างต่อเนื่อง เมื่อเล่นภาพในอัตราเร็วสูง ก็จะเกิดภาพเคลื่อน ไหวได้
3. Digital Computer Animation เป็นงาน Animation ที่ใช้หลักการแบบสองมิติผสมผสานเข้ากับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มีความสะดวกในการแก้ไขและแสดงผล เป็นที่นิยมในวงการบันเทิงในยุคนี้ ทั้งในภาพยนตร์ โฆษณาการ์ตูน ล้วนมีงาน CG Animation (Computer Graphic Animation) แฝงอยู่ด้วย
การใช้ Claymation เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ คือ การให้ผู้เรียนได้เป็นผู้สร้างองค์ความรู้ (Constructionist) หลังการเรียนรู้ โดยการผลิตสื่อการเรียนรู้ (Learning Tool) ในรูปแบบ Claymation ด้วยตนเอง ผู้เรียนมีความสนุกที่ได้สร้างสรรค์เรื่องราว ทำงานร่วมกัน และการปั้นดินน้ำมันก็เป็นทักษะพื้น ฐานในการพัฒนากล้ามเนื้อและประสาทสัมผัสที่หลากหลาย สามารถประยุกต์ใช้ได้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้และทุกระดับชั้น
ขั้นตอนการสร้าง Claymation
1. ระดมความคิด และเลือกเรื่องที่จะสร้างสรรค์ผลงาน
2. เขียน Script โดยกำหนดลักษระของตัวละครแต่ละตัว พล็อตเรื่อง ออกแบบเรื่องราวและร่างคำบรรยายต่างๆ ลงในกระดาษ
3. เขียน Storyboard โดยวาดรูปเหตุการณ์หรือเรื่องราวอย่างคร่าวๆ ลงในกระดาษ สำหรับมือใหม่ไม่ควรเขียนเรื่องราวมากจนเกินไป
4. เลือกซื้อและจัดหาวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ให้เพียงพอ
5. ใช้ดินน้ำมันสีต่างๆ ปั้นเป็นตัวละคร โดยอาจใช้ลวดดัดเป็นโครงร่างก่อน และทำฉากให้มีสีสันสวยงาม
6. จัดสิ่งแวดล้อมและส่วนประกอบของฉาก ให้อยู่ในสถานที่ที่มั่นคงแข็งแรง บนพื้นเรียบและแสงสว่างเพียงพอ
7. ทำการขยับดินน้ำมัน (ตัวละครหรือสิ่งแวดล้อม) ทีละน้อย ให้เข้าสู่ตำแหน่งถัดไปตามที่ออกแบบไว้ บันทึกภาพดินน้ำมันแต่ละตำแหน่งไว้ ให้ได้ภาพเคลื่อนไหวมากที่สุด และดำเนินการจนได้ภาพครบตามเรื่องราวที่ออกแบบไว้
8. โหลดภาพเข้าสู่คอมพิวเตอร์ โดยภาพแต่ละภาพจะเรียกว่า Frame แล้วใช้โปรแกรมตัดต่อวิดีโอ เพื่อเพิ่มความเร็วในการเคลื่อนไหวภาพ ประมาณ 5-10 เฟรมต่อวินาที ใส่ข้อความ ดนตรี เพลง เสียงบรรยาย ให้น่าชม ใส่สไลด์ชื่อเรื่องตอนเริ่มต้นและตอนจบคล้ายการสร้างภาพยนตร์
9. นักเรียนนำเสนอผลงานและสนุกสนานกับการชม Claymation ของตนเองและของกลุ่มอื่นๆ หรือนำผลงานไปแสดงกับบุคคลอื่นได้ตามที่ปรารถนา
ชมผลงานเพิ่มเติมที่ : www.nakhamwit.ac.th
ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 17 หน้าที่ 9 เขียนโดย นายธีระพงษ์ แสงสิทธิ์ ครู สควค. ร.ร.หนองนาคำวิทยา จ.ขอนแก่น