KruSmart : ครูผู้สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ : ร่วมกันก้าวหน้า ทำการศึกษาคุณภาพ

[Patt_Curtin1] วิทยาศาสตร์ศึกษา สัปดาห์ที่ 1 ที่ Curtin University เยี่ยมชั้นเรียนครูออสเตรเลีย ครูทุน สควค. สัมมนาวิชาการ

สัปดาห์แรกของการมาอยู่ที่ Curtin University ได้ทำกิจกรรมหลายอย่าง

1. ปรึกษากับอาจารย์ที่มาทำงานด้วยว่าขอบเขตของงานที่เราจะมาทำนั้นอยู่แค่ไหนและร่วมกันวางแผน

2. ได้มีโอกาสติดตามอาจารย์ไปโรงเรียน โรงเรียน Hale school ซึ่ง ครูในโรงเรียนได้ทำ Action research ในหัวข้อ Is adoptive comparative judgement more accurate and fairer than current WACE marking system โดยเชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษา สิ่งที่น่าสนใจคือ ครูในโรงเรียนจากหลากหลายวิชา นำโดยครูจากวิชาเทคโนโลยี มีความอยากเรียนรู้และเต็มใจที่จะร่วมทำวิจัยด้วยตนเอง โดยครูที่มีประสบการณ์ในการใช้ comparative judgement เป็นคนให้ความรู้แก่ครูคนอื่นๆ ซึ่งวิธี comparative judgement นี้เป็นการที่ครูในแต่ละวิชามารวมกลุ่มกันและร่วมกันประเมินชิ้นงานนักเรียนของกันและกัน โดยเป็นการประเมินทีละ 2 ชิ้นงาน บอกแค่ว่า ชิ้นงานใดดีกว่ากัน แล้วจึงประเมินคู่ชิ้นงานต่อไป ซึ่งการทำการประเมินด้วยวิธีนี้พบว่าเป็นการช่วยให้ครูได้ความคิดเห็นหลากหลายจากครูคนอื่นๆ และทำให้ผลการประเมินน่าเชื่อถือ โดยในกรณีโรงเรียนนี้ได้ให้นักเรียนทำชิ้นงานเป็น e-portfolio ซึ่งนักเรียนจะสะสมชิ้นงานต่างๆของตัวเองไว้ ซึ่งทำให้สะดวกมากเวลาที่ครูจะประเมินเพราะการประเมินนี้ใช้ online application ชื่อว่า Digital Assess ซึ่งสะดวกมากในการแสดงชิ้นงานของนักเรียนทีละ 2 คน และให้ครูเลือกว่าชิ้นใดดีกว่า แล้วจะแสดงชิ้นงานของนักเรียนคู่ต่อไป โดย application จะประมวลผลออกมาว่าครูส่วนมากตัดสินอย่างไร ชิ้นงานใดได้รับการเลือกว่าดีกว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับชิ้นงานอื่น หลังจากมีลำดับแล้วจึงค่อยถึงกระบวนการของการให้คะแนน

ประโยชน์ของการเชิญอาจารย์มหาวิทยาลัยมาเป็นที่ปรึกษาคือ อาจารย์ให้ข้อเสนอที่ดีจากประสบการณ์ของอาจารย์และอยู่บนฐานของทฤษฎี เช่น อาจารย์เสนอว่าสิ่งสำคัญคือ ครูทุกคนที่ร่วมตัดสินชิ้นงานจะต้องเข้าใจเกณฑ์เดียวกัน คือมี rubrics ที่ชัดเจนเพื่อช่วยในการตัดสิน และควรมีการพูดคุยปรึกษาหารือกันก่อนที่จะลงมือตัดสินจริงๆ โดยอาจนำตัวอย่างชิ้นงานนักเรียนมาหลายๆชิ้น แล้วให้ครูช่วยกันตัดสินว่าชิ้นใดดีที่สุด ชิ้นใดไม่ดีที่สุดเพื่อฝึกการตัดสินให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อีกสิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจคือ ทางโรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐในการจ่ายค่า application ซึ่งตกอยู่ประมาณ 10 AUD /นักเรียน 1 คน โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก DATTA WA(Design and Technology Teachers Association) และ HEIA WA (Home Economics Institute of Australia)

3. เข้าร่วม Colloquium ใช้เวลา 1ชั่วโมงคือ 13.00 น.- 14.00 น. เป็นการสัมมนาที่นิสิตจะมานำเสนองานวิจัยของตนเอง หรือบางครั้งก็เป็นการเชิญบุคคลจากภายนอกมาให้ความรู้ โดยในวันนี้เป็นนิสิตระดับปริญญาเอกของ David Treagust หัวข้อวิจัยคือ An Evaluation of ICT Integration in the Learning of Science in Saudi Arabian Upper-level Primary Schools ซึ่งนิสิตใช้ mix method ในการวิจัย วันนี้นำเสนอเฉพาะข้อมูลเชิงปริมาณจากแบบสอบถามนักเรียนเกี่ยวข้องกับ เจตคติต่อการใช้เทคโนโลยีในจัดการเรียนรู้ และ ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีของนักเรียน สิ่งที่น่าสนใจคือ ประเทศ Saudi Arabia มีความพร้อมมากในการจัดเตรียมเครื่องมือ ICT ในโรงเรียนเพราะงานวิจัยนี้เก็บข้อมูลกับนักเรียน 30 โรงเรียน ซึ่งพบว่าทุกโรงเรียนมีความพร้อมสูงเหมือนๆ กัน แต่ก็มีข้อจำกัดคือ เนื่องจากผู้วิจัยเป็นเพศหญิง จึงไม่สามารถเข้าไปเก็บข้อมูลในโรงเรียนชายได้ กลุ่มตัวอย่างที่เก็บข้อมูลมาจึงมีเพียงเด็กหญิง ผลการวิจัยพบว่านักเรียนส่วนมากมีเจตคติที่ดีต่อการใช้เทคโนโลยี และมีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีในระดับดี

สิ่งที่น่าสนใจในการจัด colloquium นี้คือมีอาจารย์หลากหลายเข้าฟัง และให้คำถาม และข้อเสนอแนะแก่นิสิต ทำให้นิสิตได้ไปพัฒนางานตนเองต่อ เช่น มีอาจารย์เสนอว่าควรแสดงความจำเป็นหรือความสำคัญในการใช้ ICT ในวิชาวิทยาศาสตร์ เพราะ ICT สามารถใช้ในวิชาอื่นได้เช่นกัน หรือ มีอาจารย์ถามคำถามว่าสิ่งที่นิสิตกำลังศึกษาคือ perception หรือ experience ของนักเรียนกันแน่ ควรมีความชัดเจน หรือ การที่กลุ่มตัวอย่างมีทั้งนักเรียน เกรด 5 และ 6 จาก 30 โรงเรียน ควรนำเสนอเป็นรายชั้นปี และ รายโรงเรียนหรือไม่ นอกจากนั้นแล้ว ผู้ดำเนินการสัมมนา ยังได้ส่งเสริมให้นิสิตที่เข้าร่วมสัมมนาถามคำถามหรือให้ข้อเสนอแนะด้วยซึ่งนิสิตส่วนมากก็มีคำถามและข้อเสนอแนะที่ดี

4. มีโอกาสไปร่วม course การเรียนภาษาอังกฤษของนิสิตปริญญาโท ทุน สควค. ที่มาศึกษาต่อในระดับ super premium ที่ Curtin university เป็นเวลา 1 ปี โดยการเรียนภาษาอังกฤษนี้จะเกี่ยวข้องกับ project ที่นิสิตได้ทำด้วย ซึ่งประเด็นในการเรียนวันนี้คือการอภิปรายเกี่ยวกับ Learning environment โดยการสอนภาษาอังกฤษของอาจารย์ท่านนี้ซึ่งเป็นอาจารย์จากศูนย์ภาษาและมีประสบการณ์เคยเป็นอาจารย์ที่คณะศึกษาศาสตร์มาก่อน จะเป็นการเรียนรู้อยู่ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และสอดแทรกการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้แก่ writing, listening, speaking และ reading ไปด้วย พบว่านิสิตทุน สควค. มีพัฒนาการทางภาษาและความสามารถในการอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นทางการศึกษาได้ดีมาก

ที่มา : https://web.facebook.com/pattamaporn.pimthong/posts/1885539054795781
หมายเหตุ : บทความนี้ มาจากประสบการณ์และทัศนคติของผู้เขียน (อ.ดร.ปัฐมาภรณ์ พิมพ์ทอง) เท่านั้น และผู้เขียนอนุญาตให้เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ www.krusmart.com หากบุคคลอื่นจะนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ ให้ติดต่อและขออนุญาตผู้เขียนก่อนทุกครั้ง

Exit mobile version