KruSmart : ครูผู้สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ : ร่วมกันก้าวหน้า ทำการศึกษาคุณภาพ

ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันเซิร์น (CERN) สถานีวิจัยเซิร์นและเครื่องเร่งอนุภาค LHC (Large Hadron Collider)

สถาบันเซิร์น (CERN) ตั้งอยู่ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ครอบคลุมพื้นที่บริเวณชายแดนระหว่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์กับประเทศฝรั่งเศส ก่อตั้งมามากกว่า 50 ปี โดยมีพันธกิจหลักในการทดลองเร่งอนุภาคและทำการวิจัยเพื่อตอบคำถามหลัก 3 คำถามคือ เรามาจากไหน (Where do we come from ?) เราประกอบขึ้นจากอะไร (What are we made of ?) และเราจะเป็นอย่างไรต่อไป (Where are we going ?) ซึ่ง “เรา” ในที่นี้ก็หมายความถึง จักรวาล โลกและสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ข้อมูลที่ได้จากการทดลองแต่ละครั้งมีปริมาณมากมายมหาศาล นำไปสู่การให้กำเนิดเครือข่ายข้อมูลของคนทั้งโลกที่เรารู้จักกันดีในชื่อ เวิลด์ ไวลด์ เว็บ (www) ด้านการศึกษา สถาบันแห่งนี้มีหน้าที่ในการฝึกอบรมเตรียมความพร้อมให้กับนักวิทยาศาสตร์ในอนาคตโดยการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนของโลกในการเรียนวิทยาศาสตร์ พัฒนาความรู้และทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่าง ๆ และให้ความสำคัญกับการให้ความร่วมมือ การทำงานร่วมกันด้วยเป้าหมายเดียวกันกับคนทั้งโลก

เซิร์น (CERN) เป็นชื่อย่อมาจากภาษาอังกฤษตัวแรกของชื่อเต็มในภาษาฝรั่งเศสว่า Conseil Europenne pour la Recherche Nuclaire ชื่อภาษาอังกฤษว่า European Council for Nuclear Research ปัจจุบันใช้ชื่อ Oganization europenne pour la recherche nuclaire ในภาษาฝรั่งเศสและ European Oganization for Nuclear Research ในภาษาอังกฤษ 

หากท่านได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมสถาบันแห่งนี้ก็จะปรากฏชื่อที่ตัวอาคาร 33 ซึ่งเป็นอาคารต้อนรับ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าสถาบันเซิร์นตรงกันข้ามกับพิพิธภัณฑ์ Globe

ปัจจุบันสถาบันเซิร์นมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 20ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม บัลแกเรีย สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมณี กรีซ ฮังการี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ โปรตุเกส สโลวาเกีย สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษ มีประเทศสังเกตการณ์ 6ประเทศ ได้แก่ อินเดีย อิสราเอล ญี่ปุ่น รัสเซีย ตุรกี และสหรัฐอเมริกา และมีความร่วมมือจากหลายประเทศทั่วโลกที่ไม่เป็นสมาชิก โดยส่งนักวิจัยร่วมทำการทดลองและเข้ารับการอบรมต่าง ๆ ที่ทางสถาบันเซิร์นจัดขึ้น

การวิจัยภายในสถาบันเซิร์นอาศัยเครื่องเร่งอนุภาค LHC (Large Hadron Collider) ซึ่งตั้งอยู่ในอุโมงค์ใต้ดิน โดยเร่งโปรตอนและนิวเคลียสของตะกั่วในทิศทางสวนกันแล้วบังคับ ให้ลำอนุภาคทั้งสองชนกัน ณ สถานีตรวจวัดอนุภาค สถานีตรวจวัดอนุภาคที่สำคัญของเครื่องเร่งอนุภาค LHC คือ ALICE, ATLAS, LHCb และ CMS

     1. สถานีตรวจวัด ALICE ย่อมาจาก A Large Ion Collider Experiment ศึกษาสมบัติของพลาสมาของควาร์กและกลูออนซึ่งเกิดจากการชนกันของนิวเคลียสของตะกั่ว
     2. สถานีตรวจวัด ATLAS ย่อมาจาก A Toroidal LHC ApparatuS ตรวจสอบความแม่นยำของทฤษฎีแบบจำลองมาตรฐาน อนุภาคฮิกส์ (Higgs Boson) ทฤษฎีมามาตรยวดยิ่ง (SupersymmetryTheory) ทฤษฎีเอกภพที่มีมากกว่า 4 มิติ (Extra-diamensions Theory) โดยสามารถตรวจวัดอนุภาคมูลฐานได้เกือบทุกชนิด (ยกเว้นนิวตริโน)
     3. สถานีตรวจวัด LHCb ย่อมาจาก Large Hadron Collider beauty ศึกษาความแตกต่างระหว่างสสารและปฏิสสารที่เกิดขึ้นจากอนุภาคที่ประกอบด้วย บี-ควาร์ก
     4. สถานีตรวจวัด CMS ย่อมาจาก Compact Muon Solenoid มีจุดประสงค์ในการทำงานเช่น เดียวกัน กับสถานีตรวจวัด ATLAS แต่ใช้เทคโนโลยีที่ แตกต่างกัน

ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 15 หน้าที่ 4 เขียนโดย ครูสุพัตรา   ทองเนื้อห้า สควค. รุ่น 7 ครู โรงเรียนทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
ภาพประกอบจาก : http://te-dep-epc.web.cern.ch/te-dep-epc/machines/pagesources/Cern-Accelerator-Complex.jpg

Exit mobile version