ที่มาและความสำคัญ
จากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน วิชาคอมพิวเตอร์เพื่องานอาชีพ ของนักเรียนชั้น ม.5/3 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 27 จังหวัดหนองคาย พบว่า นักเรียนยังขาดทักษะกระบวนการคิด การคิดอย่างสร้างสรรค์ และขาดทักษะกระบวนการกลุ่ม ขาดความกระตือรือร้นในการเรียน ซึ่งส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ
ผู้วิจัยจึงเห็นว่าจะต้องมีการพัฒนารูปแบบการสอน ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพื่อให้นักเรียนได้สร้างองค์ความรู้ที่คงทนด้วยตนเอง จึงสนใจที่จะพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน โดยนำเทคโนโลยี web 2.0 ไปประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนรูปแบบซิปปา ซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่มีความหมาย สามารถสร้างและค้นพบความรู้ด้วยตนเอง ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ได้พัฒนาทักษะกระบวนการกลุ่ม มีการจัดทำและบันทึกข้อมูลความรู้ผ่านเว็บไซต์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคคลที่สนใจร่วมกัน โดยการสอบถามและเพิ่มเติมความรู้ใหม่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 66 ที่ผู้เรียนมีสิทธิได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ในโอกาสแรกที่ทำได้ เพื่อให้มีความรู้และทักษะเพียงพอที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
1.ขั้นทบทวนความรู้เดิม เป็นการดึงความรู้ของผู้เรียนให้มีความพร้อมในการเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมของตน
2. ขั้นแสวงหาความรู้ใหม่ เป็นการแสวงหาข้อมูล ความรู้ใหม่ที่ผู้เรียนยังไม่มีจากแหล่งข้อมูลหรือแหล่งความรู้ต่างๆ ซึ่งครูอาจเตรียมมาให้หรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนไปแสวงหาก็ได้
3. ขั้นการศึกษาทำความเข้าใจความรู้ใหม่ และเชื่อมโยงกับความรู้เดิม ผู้เรียนต้องสร้างความหมายของข้อมูลประสบการณ์ใหม่ๆ โดยใช้กระบวนการต่างๆ ด้วยตนเอง เช่น ใช้กระบวนการคิด และกระบวนการกลุ่มในการอภิปรายและสรุปผลความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลนั้น ซึ่งต้องอาศัยการเชื่อมโยงความรู้เดิม มีการตรวจสอบความเข้าใจต่อตนเองหรือกลุ่ม โดยครูใช้สื่อและย้ำมโนมติในการเรียนรู้
4. ขั้นการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับกลุ่ม เป็นขั้นที่ผู้เรียนอาศัยกลุ่มเป็นเครื่องมือ ในการตรวจสอบความรู้ ความเข้าใจของตนเอง ขยายความรู้ความเข้าใจของตนให้กว้างขึ้น
5. ขั้นการสรุปและจัดระเบียบความรู้ จัดสิ่งที่เรียนรู้ให้เป็นระบบระเบียบ เพื่อช่วยให้จดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ง่าย
6. ขั้นการแสดงผลงาน เป็นขั้นที่ช่วยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสได้แสดงผลงานการสร้างความรู้ของตนเองให้ผู้อื่นรับรู้ ช่วยให้ผู้เรียนตอกย้ำ หรือตรวจสอบ เพื่อช่วยให้จดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ง่าย
7. ขั้นประยุกต์ใช้ความรู้ เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการนำความรู้ ความเข้าใจของตนเองไปใช้ในสถาน การณ์ต่างๆที่หลากหลายเพื่อเพิ่มความชำนาญ ความเข้าใจ
วัตถุประสงค์การวิจัย
1. เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบซิปปาที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี web 2.0 ให้มีประสิทธิภาพ 80/80
2. เพิ่มค่าเฉลี่ยคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงกว่าร้อยละ 80
3. เพื่อเพิ่มค่าเฉลี่ยคะแนนทักษะความคิดสร้างสรรค์ ให้สูงกว่าระดับดีขึ้นไป
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากร คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 27 จังหวัดหนองคาย ที่เรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2553
กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/3 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 27 จังหวัดหนองคาย ที่เรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2553 จำนวน 13 คน ซึ่งได้จากการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
1. รูปแบบการเรียนการสอน เป็นการประยุกต์การสอนรูปแบบซิปปาร่วมกับเทคโนโลยี web 2.0 ทั้งนี้ผู้วิจัยได้ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์และสร้างต้นแบบรูปแบบการเรียนการสอนและผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ 3 คน
2. แผนการจัดการเรียนรู้ที่ประยุกต์การสอนรูปแบบซิปปาร่วมกับเทคโนโลยี web 2.0 เรื่องการใช้งานโปรแกรม Flash จำนวน 12 ชั่วโมง
3. แบบทดสอบเพื่อใช้วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การใช้งานโปรแกรม Flash จำนวน 40 ข้อ 40 คะแนน
4. แบบประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์การสร้างชิ้นงาน
5. แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนต่อรูปแบบการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ โดยประยุกต์การสอนรูปแบบซิปปาร่วมกับเทคโนโลยี web 2.0
การดำเนินการวิจัย
1. สอนตามรูปแบบ การประยุกต์การสอนรูปแบบซิปปาร่วมกับเทคโนโลยี web 2.0 กับนักเรียนชั้น ม. 5/3 ในระหว่างเรียนให้นักเรียนทำข้อสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และสร้างชิ้นงาน จากนั้นนำชิ้นงานไปนำเสนอผ่านเทคโนโลยี web 2.0 แล้วให้รุ่นน้อง เพื่อน ๆ และครู ร่วมกันให้คะแนนความคิดสร้างสรรค์ผ่าน web 2.0 นำคะแนนที่ได้จากการทดสอบและคะแนนจากการประเมินความคิดสร้างสรรค์ของชิ้นงานไปหาค่า E1
2. นักเรียนทำข้อสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จากนั้นนำคะแนนที่ได้จากการทดสอบและคะแนนจากการประเมินความคิดสร้างสรรค์ของชิ้นงานชิ้นสุดท้าย จากการให้คะแนนของครูและเพื่อน ๆ ผ่าน web 2.0 ไปหาค่า E2
3. นำคะแนนมาวิเคราะห์หาค่า E1/E2 ตรวจสอบว่ามีประสิทธิภาพมากกว่า 80/80 หรือไม่
4. สอบถามความพึงพอใจ
5. วิเคราะห์หาร้อยละของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ค่าเฉลี่ยคะแนนทักษะความคิดสร้างสรรค์ และวิเคราะห์ระดับความพึงพอใจด้วยสถิติพรรณนา ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษา
ได้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ 82.42/82.51, ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 81.25, ค่าเฉลี่ยคะแนนทักษะความคิดสร้างสรรค์ อยู่ในระดับดีขึ้นไป, นักเรียนพึงพอใจต่อรูปแบบในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย=4.62 ส่วนเบี่ยงเบน= 0.28) นอกจากนี้ ยังพบว่านักเรียนมีความกระตือรือร้นและมีความสุขในการเรียนมากขึ้น
ข้อเสนอแนะ
1. ขณะจัดการเรียนรู้ ผู้สอนควรเพิ่มเติมเนื้อหา ในบทเรียนให้มาก เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้เพียงพอและจำเป็นสำหรับการสืบค้นความรู้เพิ่มเติม
2. ในการจัดการเรียนรู้ นักเรียนและครูควรมีการบันทึกอนุทินทุกครั้ง เพื่อเป็นร่องรอยหลักฐานในการทำงาน และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการจัดการเรียนการสอน
ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 14 หน้าที่ 6-7 ผลงานของ ครูเจนจิรา แสนไชย สควค. รุ่น 6 ครู ร.ร. ราชประชานุเคราะห์ 27 จ.หนองคาย