ความสำคัญและที่มาของนวัตกรรม
ในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ นักเรียนไม่สนใจเรียนในหน่วยพลังงาน แรง การเคลื่อนที่ และบรรยากาศ อาจเพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้จินตนาการสูง ต้องใช้ทักษะในการคำนวณ ซึ่งโรงเรียนขาดสื่ออุปกรณ์ที่เหมาะสมและทันสมัย เพื่อกระตุ้นความน่าสนใจเรียนของนักเรียน และในหน่วยสิ่งแวดล้อม นักเรียนมองเห็นเป็นเรื่องใกล้ตัวจึงไม่ให้ความสนใจ คณะผู้พัฒนานวัตกรรมจึงได้มีความสนใจ และร่วมมือกันศึกษาและพัฒนานวัตกรรมเครื่องบินจำลองวิทยุบังคับถ่ายภาพมุมสูง
โดยในการประดิษฐ์ได้มีการวางแผน และออกแบบเครื่องบินให้สามารถบินได้ดี ลดแรงเสียดทาน มีความเสถียร และนำกล้องโทรทัศน์วงจรปิดขนาดเล็กแบบหนวดกุ้งติดกับส่วนท้องของเครื่องบินเพื่อถ่ายภาพสภาพพื้นที่ด้านล่างในมุมสูงของสถานที่ต่าง ๆ
วัตถุประสงค์
1. เพื่อศึกษา สืบค้น พัฒนานวัตกรรมเครื่องบินจำลองวิทยุบังคับถ่ายภาพมุมสูง สำหรับถ่ายภาพสภาพพื้นที่ด้านล่างในมุมสูงของสถานที่ต่าง ๆ
2. เพื่อพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นทั้งอุปกรณ์ในการเรียน และอุปกรณ์ในการเล่นที่มีความแปลกใหม่ และน่าสนใจของนักเรียนในชนบท ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ผลความสำเร็จ
เครื่องบินจำลองวิทยุบังคับถ่ายภาพมุมสูง ได้พัฒนาต่อยอดจากเครื่องบินจำลองวิทยุบังคับของทางสมาคมกีฬา จากการทดสอบที่สภาวะอากาศเปิดสามารถทำการบินได้สูงมากกว่า 200 เมตรโดยประมาณจากพื้นดิน เครื่องรับสัญญาณสามารถรับสัญญาณภาพได้ดี ใช้ประโยชน์ในการบันทึกภาพของสภาพพื้นที่ในมุมสูงของสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงเรียน วัด ชุมชน แหล่งการเกษตรของชาวบ้าน หรือใช้เพื่อตรวจสอบและบันทึกการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่ป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์ป่าโดยมีค่าใช้จ่ายต่ำ และยังนำมาใช้เป็นสื่อสิ่งประดิษฐ์ประกอบในการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่องพลังงาน แรง การเคลื่อนที่ บรรยากาศ และสิ่งแวดล้อม ใช้ช่วยเหลือผู้อุทกภัยเพราะโรงเรียนตั้งอยู่ในชุมชนที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหว และภูเขาถล่ม ฯลฯ
1. นักเรียนได้เรียนรู้การประดิษฐ์เครื่องบินจำลองวิทยุบังคับ และขยายผลไปสู่นักเรียนโรงเรียนใกล้เคียง
2. ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์
3. นักเรียนในระดับช่วงชั้นที่ 3 ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทน สพท.ลำปาง เขต 3 เข้าแข่งขันสิ่งประดิษฐ์วิทยาศาสตร์ในงานศิลปหัตถกรรมภาคเหนือ จ.พิษณุโลก ปีการศึกษา 2550 ได้รับรางวัลเหรียญทอง เป็นตัวแทนภาคเหนือเข้าแข่งขันในระดับประเทศ
4. นวัตกรรมได้รับคัดเลือกให้เป็น นวัตกรรมดีเด่นด้านการเรียนการสอน ตามโครงการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมในโรงเรียน เป็นตัวแทนของ สพท.ลำปาง เขต 3 เข้าร่วมประกวดนวัตกรรมระดับเขตตรวจราชการ
5. หนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม (OSOI) ของคุรุสภา ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ ได้รับคัดเลือกให้เป็นนวัตกรรมต้นแบบด้านสื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษา รางวัลเหรียญทอง ระดับประเทศ
6. ได้รับทุนการศึกษามูลนิธิตาเฮอร์สยามวาลาเพื่อการศึกษา ประจำปี 2550 โครงการ “ชมรมวิทยาศาสตร์การบิน (วท.ว.)” จำนวน 30,000 บาท
7. ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมนำเสนอผลงาน ในงานวันมหัศจรรย์เด็กไทย มหกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
8. ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมจัดนิทรรศการในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2551 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
9. ภาพถ่ายที่ได้จากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด นำมาใช้ประโยชน์ โดยร่วมกับชาวบ้าน องค์กร โดยกำนัน ต.วังทอง นำภาพการบุกรุกป่า การทำไร่ข้าวโพดของชาวบ้านรุกที่สาธารณะ นำมาเขียนโครงการเสริมสร้างความตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อม และโครงการบวชป่าชุมชน (ยุทธศาสตร์อยู่ดี มีสุข จังหวัดลำปาง 2550) ได้รับงบประมาณในการจัดกิจกรรมจำนวน 250,000 บาท เพื่อขอคืนที่ดินสาธารณะที่ถูกรุก และปลูกป่าเสื่อมโทรม
10. ร่วมจัดนิทรรศการในงานต่าง ๆ ของชุมชน ให้ความรู้เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าไม้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ท่านผู้อ่านทุกท่านคงจะได้เห็นว่า นวัตกรรมการเรียนรู้ที่จัดทำขึ้นแล้วส่งผลดีต่อการจัดการเรียนการสอน พัฒนาคุณภาพผู้เรียน และสามารถสร้างสรรค์การเรียนรู้สู่ชุมชนได้ นั่นคือ “สุดยอดของนวัตกรรม” และได้ชื่อว่าได้มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในชุมชนของตนเอง อันเป็นอีกหนึ่งบทบาทของครู สควค. ที่สังคมคาดหวัง และผลงานที่จัดทำขึ้นจนได้รับรางวัลในระดับต่างๆ ก็เป็นเกียรติประวัติและเป็นผลงานทางวิชาการ ที่ใช้ประกอบการขอเพิ่มวิทยฐานะให้มีสวัสดิการ ค่าตอบแทนและประโยชน์เกื้อกูลที่มากขึ้นได้ มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ มีความมั่นคงอยู่อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นครูอย่างภาคภูมิใจ
ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 5 หน้าที่ 8-9 เขียนโดย ครูวิโรจ หลักมั่นและแคทรียา หลักมั่น สควค. รุ่น 5 ครู ร.ร.วังทองวิทยา จ.ลำปาง