KruSmart : ครูผู้สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ : ร่วมกันก้าวหน้า ทำการศึกษาคุณภาพ

การวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ปฏิบัติการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อก้าวสู่การเป็นครูนักวิจัยมืออาชีพ

Iเมื่อได้ยินคำว่า “วิจัย” ครูหลาย ๆ คนอาจยิ้มไม่ออก หน้าผากย่น บ่นว่ายาก คิดว่าเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นจากภาระงานสอนซึ่งเป็นงานหลัก ทำให้ครูหมดความพยายามที่จะทำวิจัยตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มลงมือทำ แต่ในความเป็นจริง เมื่องานสอนเกิดปัญหา ครูก็จะต้องแสวงหาวิธีการมาแก้ไขหรือพัฒนาการเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน ถ้าครูทำเช่นนี้ ก็ถือว่าครูได้ใช้กระบวนการวิจัยมาพัฒนาการเรียนรู้หรือได้ทำวิจัยในชั้นเรียนแล้ว การวิจัยในชั้นเรียนจึงเป็น งานเสริม ให้งานสอนมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การทำวิจัยในชั้นเรียน มีรูปแบบหลากหลาย อยู่ที่ว่าเราจะเลือกรูปแบบของนักวิชาการท่านใดมาเป็นแนวทาง ในที่นี้ขอเสนอรูปแบบ (พิชิต,2547) 5 ขั้น ดังนี้

ขั้นที่ 1  การวิเคราะห์ปัญหาการเรียนรู้  ขั้นตอนนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการวางแผนแก้ปัญหาหรือพัฒนาการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้ครูนักวิจัยทราบปัญหาหรือความต้องการจำเป็นที่ต้องดำเนินการแก้ไขหรือพัฒนา โดยอาจใช้การสังเกต การสอบถาม การประเมินจากผู้เกี่ยวข้อง การตรวจผลงานของนักเรียน การใช้คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน การใช้แผนผังความคิด (Mind mapping) หรือการใช้เทคนิคการตั้งคำถาม ปัญหาการเรียนรู้ หมายถึง ข้อขัดข้องที่ทำให้ผลการเรียนรู้ไม่เป็นไปตามจุดประสงค์การเรียนรู้ที่ครูคาดหวังและเขียนไว้ในแผนการจัดการเรียนรู้

ขั้นที่ 2  การเลือกนวัตกรรมหรือวิธีการแก้ปัญหา  เพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มีคุณภาพ ตัวอย่างเช่น แบบฝึก ชุดการสอน บทเรียนสำเร็จรูป เกม นิทาน การ์ตูน วีดิทัศน์ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน วิธีการสอนแบบบูรณาการ วิธีการสอนแบบร่วมมือ เป็นต้น การดำเนินการในขั้นนี้จะทำให้ครูได้นวัตกรรมหรือวิธีการแก้ปัญหาที่มีความเหมาะสมกับสภาพปัญหาการเรียนรู้และเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาหรือพัฒนาผู้เรียน

ขั้นที่ 3  การออกแบบและสร้างนวัตกรรมหรือวิธีการแก้ปัญหา  ตามที่ได้เลือกไว้ในขั้นที่ 2 เช่น แบบฝึกควรจะมีลักษณะอย่างไร เนื้อหาในแบบฝึกมีอะไรบ้าง มีกี่แบบฝึก รูปแบบของแบบฝึกควรเป็นอย่างไร ขนาดของตัวหนังสือและรูปภาพควรมีขนาดเท่าไหร่ เป็นต้นหากต้องการให้ได้นวัตกรรมที่มีคุณภาพ มีความเชื่อมั่นต่อการนำไปใช้งานมากขึ้น ครูนักวิจัยอาจให้เพื่อนครูหรือผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจสอบนวัตกรรม แล้วปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจสอบก่อนจะนำไปใช้

ขั้นที่ 4  การใช้นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนา  เป็นขั้นตอนของการนำนวัตกรรมหรือวิธีการแก้ปัญหาไปใช้หรือจัดการเรียนการสอนโดยใช้นวัตกรรมกับประชากรกลุ่มเป้าหมายที่ครูนักวิจัยได้กำหนดไว้ แล้วสังเกต เก็บรวบรวมข้อมูล และนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์

ขั้นที่ 5  การสรุปและรายงานผลการวิจัย  เป็นขั้นตอนการสรุปผลการวิจัย ข้อค้นพบหรือผลการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาผู้เรียนว่าเป็นอย่างไร แล้วเขียนเป็นหลักฐานการปฏิบัติงานในรูปของรายงานการวิจัยแบบย่อหรือแบบ 5 บท

ผู้เขียนมีความคาดหวังว่าคุณครู ที่ได้อ่านบทความนี้แล้ว จะได้เห็นแนวทางในการทำวิจัยในชั้นเรียนของตน เพื่อพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นครูนักวิจัยมืออาชีพ ต่อไปได้

เอกสารอ้างอิง :: พิชิต  ฤทธิ์จรูญ. การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ : ปฏิบัติการวิจัยในชั้นเรียน. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547.
ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 11 หน้าที่  7 (เมษายน-มิถุนายน 2552) เขียนโดย นาย
เอกภูมิ   จันทรขันตี สควค.รุ่น 9 นิสิตป.เอก โครงการผลิตนักวิจัยพัฒนาด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
ภาพประกอบโดย : ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข (โรงเรียนพนาสนวิทยา จ.สุรินทร์)

Exit mobile version