การบูรณาการ คือ การจัดการเรียนรู้ที่ใช้ความรู้ความเข้าใจ และทักษะในศาสตร์หรือวิชาต่าง ๆ มากกว่า 1 วิชาขึ้นไป มาเชื่อมโยงผสมผสานในลักษณะองค์รวม เพื่อทำให้เกิดความรู้ที่มีความหมายสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งเป็นหลักการที่พูดกันโดยทั่วไป แต่จะนำมาสู่การปฏิบัติที่เห็นผลเป็นรูปธรรม และเด็กได้รับองค์ความรู้อย่างแท้จริงอย่างไรและจะทำอย่างไร
ผู้เขียน ได้รับผิดชอบสอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในรายวิชาคอมพิวเตอร์ แต่ในระดับชั้น ม.3 รับหน้าที่หนักหน่อยเพราะว่า เหมาสอนสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยีทั้งหมด ซึ่งในความคิดแรกนั้น “โอ้ว..!เนื้อหาที่ต้องสอนทำไมเยอะเช่นนี้ พื้นฐานด้านอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากคอมพิวเตอร์ก็ช่างน้อยนิด..จะทำยังไงดี…” (เอาน่า…ครู สควค. ต้องทำได้ทุกอย่าง)
“บูรณาการ” เป็นความคิดแรกที่เกิดขึ้นในหัวสมอง…เอาหละเราต้องเขียนแผนการสอนที่เน้นการบูรณาการ เชื่อมโยงงานเกษตร งานประดิษฐ์ งานบ้าน คหกรรม ออกแบบ ฯลฯ สารพัดเนื้อหาเข้ากับวิชาคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นวิชาที่นักเรียนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ มีความสุข สนุกสนานที่ได้เรียน ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ต้องเชื่อมโยงการใช้เครื่องมือด้านไอที (ที่พอจะหาได้และมีอยู่…ทั้งของครู…เพื่อนครูและโรงเรียน) โดยต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับการปฏิบัติกิจกรรมอื่น ๆ ของโรงเรียน ไม่เป็นการเพิ่มภาระงานให้ผู้เรียนเกินความจำเป็นให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเลือก การวางแผนและการลงมือปฏิบัติจริงมากที่สุด ที่กล่าวมานี้อาจจะยังไม่ค่อยเห็นภาพเท่าไหร่ ขอยกตัวอย่างเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ง่าย ๆ ดังนี้
ชั่วโมงที่ 1 การสอนคอมพิวเตอร์ ให้นักเรียนแบ่งกลุ่มหาข้อมูล เรื่อง การทำอาหารไทย จากอินเทอร์เน็ต และเลือกเมนูอาหารที่ต้องการทำ โดยกำหนดให้ทำกลุ่มละ 1 รายการ ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับเพื่อนในห้องทุกคน แบ่งหน้าที่ เขียนแผนการดำเนินงาน เตรียมในจัดหาวัตถุดิบ และอุปกรณ์เพื่อทำในชั่วโมงถัดไป โดยนักเรียนจะต้องทำการคำนวณปริมาณสารอาหารที่จะได้รับในมื้อหนึ่ง ๆ ที่เหมาะสม
ชั่วโมงที่ 2 (ใช้เวลา 3 ชั่วโมง) การทำอาหารนักเรียนจัดสถานที่ ออกแบบตกแต่ง เพื่อการถ่ายทำวิธีการทำ อาหาร ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบด้วยกล้องดิจิตอล ทั้งในรูปแบบภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว เพื่อนำเสนอผลงานในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ เมื่อทำอาหารเสร็จประเมินผลงานโดยการชิมแบบแบ่งปันกันทุกกลุ่มและส่งให้ครูตรวจทั้งโรงเรียนโดยจัดสำรับอาหารไปส่งพร้อมแบบประเมินการทำ จากนั้นสรุปผลความอร่อยและถูกหลักโภชนาการ ให้คะแนนอย่างชัดเจน บอกข้อควรปรับปรุงและชมเชยท้ายชั่วโมงเพื่อเป็นการให้กำลังใจ และแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นทันที
ชั่วโมงที่ 3 ให้นักเรียนทำ Presentation ด้วยโปรแกรม Power Point ซึ่งเป็นโปรแกรมนำเสนอพื้นฐานอย่างง่าย ๆ นำขอสรุปองค์ความรู้ที่ได้ เสนอผลงานหน้าชั้นเรียน โดยที่สำคัญนักเรียนได้นำเสนอปัญหาและอุปสรรค์ รวมถึงข้อเสนอแนะในการดำเนินการครั้งต่อไปเพื่อปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น มีการประเมินผลคะแนนในหลาย ๆ ส่วนทั้งในเรื่องของการทำอาหารและการผลิตสื่อเทคโนโลยี การนำเสนองาน อีกทั้งคุณธรรมจริยธรรม และความเป็นระเบียบ โดยนักเรียนในชั้นมีส่วนร่วมในการให้คะแนนเพื่อนกลุ่มอื่นด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของการสอนแบบบูรณาการ ที่ครูทุกคนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ และความต้องการของนักเรียน เป็นกำลังใจให้ครูผู้สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ทุกคนนะคะ
ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 9 หน้าที่ 11 เขียนโดย ครูปิยธันว์ เบญจเทพรัศมี ครู ร.ร.บ้านต้นผึ้ง จ.ลำพูน