การจัดการเรียนรู้อย่างมีศาสตร์การสอนผนวกเนื้อหาวิชา (PCK)

witoonwrlปัจจุบันเป็นที่ตระหนักกันดีว่า ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นสิ่งนำพาประเทศชาติให้ก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นการนำความรู้มาประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ หรือนำมาใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่กระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ดังเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา จะเห็นว่าความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ถูกนำมานำพาประเทศให้ก้าวพ้นวิกฤตินั้นไปให้ได้ทั้งเรื่องของการระบายน้ำ การแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย รวมถึงการซ่อมแซมฟื้นฟูบ้านเรือน สิ่งก่อสร้าง หรือพืชพรรณทางการเกษตร หลังจากน้ำลดแล้ว

ดังนั้น จึงเป็นภาระหรือหน้าที่สำคัญของครูวิทยาศาสตร์ไทยที่จะต้องสร้างพลเมืองของชาติให้เป็นคนที่มีความรู้ ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องเริ่มต้นที่ชั้นเรียน ครูจะต้องทำให้ผู้เรียนเกิดความชอบ หรือเจตคติที่ดีต่อวิชาวิทยาศาสตร์ก่อนเพื่อให้ผู้เรียนเปิดใจ เปิดสมองที่จะเรียนรู้เนื้อหาวิทยาศาสตร์ โดยครูต้องมีความรู้ด้านเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์ (Content Knowledge) ความรู้ด้านการสอน (Pedagogical) และความรู้ด้านบริบท (Contextual Knowledge) หากครูมีความรู้ครบทั้งสามด้าน และสามารถผนวกความรู้ทั้งสามด้านนี้ให้สัมพันธ์ เชื่อมโยงกันก็จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และรักวิทยาศาสตร์

– ความรู้ด้านเนื้อหาวิชา (Content Knowledge) ประกอบด้วยเนื้อหาของวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งครูจะต้องมีความรู้เป็นอย่างดีและต้องคอยติดตามความก้าวหน้าในองค์ความรู้ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา

–  ความรู้ด้านการสอน (Pedagogical) ครูที่ดี ครูที่เก่ง นอกจากจะต้องมีความรู้ด้านเนื้อหาวิชาที่ดีแล้ว จะต้องศึกษาหลักสูตรและจัดกระบวนการเรียนการสอนที่สามารถนำพาผู้เรียนให้บรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตรให้ได้ โดยครูจะต้องเข้าใจธรรมชาติของผู้เรียน มีการจัดการในชั้นเรียนที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดกระบวนการเรียนการสอนนั้นควรมีการนำกลวิธีต่างๆ มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้หลากหลาย เหมาะสมกับผู้เรียน และสอดคล้องกับเนื้อหาวิชา ซึ่งกลวิธีการสอนที่เหมาะสมกับการจัดกระบวนการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์มีมากมาย เช่น การเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมใจ (Cooperative Learning) คิดเดี่ยว:คิดคู่:แลกเปลี่ยนความคิด(Think Pair Share) เดินชมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Gallery walk) ม้าหมุน (Carousel) ทำนาย:สังเกต:อธิบาย (Predict Oberve Explain: P O E) รู้แล้ว:อยากรู้:เรียนรู้ (Knowledge Want to know Learning: K W L) ตั๋วออก (Exit ticket) การระดมความคิด (Brainstorming) เป็นต้น การนำกลวิธีเหล่านี้มาใช้ในการจัดกระบวนการเรียนการสอนจะเป็นการปลูกฝังให้นักเรียนคิด วิเคราะห์ ตื่นตัวที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา อันจะส่งผลให้เกิดความรักที่จะเรียนวิทยาศาสตร์ หรือเกิดเจตคติที่ดีต่อวิชาวิทยาศาสตร์นั่นเอง นอกจากการนำกลวิธีมาใช้แล้ว การสอนวิทยาศาสตร์แบบ  5E นั้น ในขั้นขยายความรู้ (Elaboration) ครูต้องพยายามเชื่อมโยงความรู้ที่ได้จากการอธิบายและลงข้อสรุป (Explanation) ไปใช้ในสถานการณ์อื่นๆ หรือยกตัวอย่างการใช้ความรู้นั้นในชีวิตประจำวัน ในการประกอบอาชีพหรือในกิจกรรมต่างๆ เหมือนประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อตอนผู้เขียนบรรจุเป็นครูใหม่ๆ ครูกำลังนำนักเรียนเข้าสู่บทเรียนเรื่องพอลิเมอร์ ก็มีนักเรียนคนหนึ่งรีบยกมือถามขึ้นว่า “ครูครับ พอลิเมอร์ทำนา เกี่ยวข้าวได้ไหมครับ?” นั่นเป็นคำถามที่ครูต้องขอบใจเขาที่ช่วยครูนำเพื่อนเข้าสู่บทเรียน แล้วเมื่อจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องนี้เสร็จ ครูก็ย้อนถามเขากลับว่า “พอลิเมอร์เกี่ยวข้องกับการทำนา เกี่ยวข้าวหรือไม่ อย่างไร” จนนักเรียนแย่งกันตอบ นั่นเป็นสิ่งเตือนใจผู้เขียนเองว่าเมื่อครูทำการสอนเรื่องใดแล้ว ครูต้องนำพานักเรียนเชื่อมโยงความรู้สู่ชีวิตประจำวันให้ได้ เพื่อให้นักเรียนได้ตระหนักว่าวิทยาศาสตร์ก็คือชีวิตประจำวันของเขานั่นเอง

– ความรู้ด้านบริบท (Contextual Knowledge) ครูจะต้องศึกษาบริบททางการศึกษาตั้งแต่นโยบายประเทศ สภาพแวดล้อมชุมชน โรงเรียน วิสัยทัศน์ เอกลักษณ์ของโรงเรียน ตลอดจนสภาพแวดล้อมในห้องเรียน รวมทั้งตัวผู้เรียนเอง

การเชื่อมโยงองค์ความรู้ทั้งสามด้านเข้าด้วยกัน จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้บรรลุตามเป้าหมายของหลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้ ถึงเวลาหรือยังที่ครูวิทยาศาสตร์ไทย จะจัดการเรียนรู้ให้เป็นหนึ่ง นำพาผู้เรียนให้เป็นพลเมืองที่มีประสิทธิภาพของชาติ และในที่สุดเป็นพลโลกที่ดีของโลกใบนี้ต่อไป

เอกสารอ้างอิง
(1) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. กระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเนื้อหาตามมาตรฐานหลักสูตร (Pedagogical Content Knowledge: PCK). กรุงเทพฯ,2554
(2) บัญชา  ธนบุญสมบัติ. คู่คิดครูวิทยาศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ :บริษัท ส.เอเซียเพรส (1989) จำกัด, 2545.

บทความนี้เขียนโดย  นางวัชรียา  พรหมพันธ์ สควค. รุ่น 5  โรงเรียนกุสุมาลย์วิทยาคม จังหวัดสกลนคร เผยแพร่เมื่อ 12 เมษายน 2555



2 Comments

  1. ณัฐกุล พศ์รักษ์ศิลป์ says:

    เป็นการสอนที่ดีมากและเป็นตัวอย่างของผู้ส่งงาน

  2. ณัฐกุล พศ์รักษ์ศิลป์ says:

    ใช้วิชาสังคมศึกษาผนวกคุณธรรมจริยธรรมนักเรียนและในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนใส่ไปด้วยได้ไหม

Leave a Comment