[ข้อมูล] จิตวิทยาของการร่วมมือ สาเหตุของการร่วมมือ ตัวอย่างการศึกษาการร่วมมือของนักเรียน

cooperationการร่วมมือ เป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ยิ่งในสังคมปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มนุษย์ต้องประสบปัญหาอย่างมากมาย โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวกับความอยู่รอดของมนุษย์เอง จากความจำเป็นนี้ จึงทำให้มนุษย์ต้องร่วมมือกัน เพื่อให้การดำเนินการต่างๆสำเร็จไปได้ด้วยดี

ในสายตาของคนทั่วไปจะมอง การร่วมมือไปในทางบวกมากกว่าทางลบ เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ไม่สามารถอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว แต่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม การทำกิจการต่างๆต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จึงจะประสบความสำเร็จ ส่วนความร่วมมือที่ทำให้เกิดผลเสียนั้นไม่ค่อยมีใครนึกถึง แต่ในสังคมจริงๆ มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีมันสมองสูง เป็นสัตว์ที่อยากรู้อยากเห็น เมื่อเป็นเช่นนี้ การร่วมมือกันอาจก่อให้เกิดอุปสรรคขึ้นได้ ถ้าความคิดเห็นนั้นไม่สอดคล้องต้องกัน

Lindgren ได้ให้ความหมายของ การร่วมมือ (Cooperative) ว่าหมายถึง การทำงานร่วมกันเพื่อให้งานนั้นบรรลุจุดมุ่งหมายที่ทุกคนยอมรับกันแล้วและจุดมุ่งหมายของผู้ร่วมมือนั้นไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เป็นแต่เพียงว่าแต่ละคนต่างดำเนินไปสู่จุดมุ่งหมาย แล้วมีผลทำให้ทุกคนที่ร่วมในกระบวนการนั้นเกิดความพึงพอใจ บางครั้งผู้ร่วมมืออาจทำไปโดยไม่รู้ตัวหรือไม่ได้คิดว่า นั่นเป็นความร่วมมือ อุปสรรคต่างๆจึงมักไม่ค่อยเกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นลักษณะการทำงานเป็นกลุ่ม ย่อมเกิดอุปสรรคขึ้นได้เนื่องจากความคิดเห็นของแต่ละคนแตกต่างกัน

สาเหตุของการร่วมมือ
การร่วมมือ มีสาเหตุมาจากความใกล้ชิด การชอบพอซึ่งกันและกัน การมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกัน การแตกแยกกัน การเกิดภัยอันตรายและอื่นๆอีกมากมาย ในปัจจุบัน นักจิตวิทยาได้ทำการศึกษาหาหลักฐานข้อเท็จจริง ทำให้เราทราบถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดความร่วมมือขึ้นอีก เช่น มีสาเหตุมาจากบุคลิกภาพของบุคคลนั้น จากแรงจูงใจ จากการเรียนรู้ จากความต้องการจากผลประโยชน์ที่จะได้รับ ในที่นี้จะกล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการร่วมมือที่สำคัญ 4 ประการ ดังนี้
1. การเรียนรู้ (Learning) หมายความว่า ประสบการณ์ต่างๆที่ได้เรียนรู้มาจะทำให้บุคคลเกิดความคิดและการรับรู้จะต้องทำอย่างไร เช่น การศึกษาของโกลด์แฟรงด์ บินิดิคท์ และโกลด์แมน (Goldfranle,1945;Benedict,1934 and Goldman,1937) ได้ศึกษาถึงวัฒนธรรมของอินเดียเผ่า โฮปี(Hopi) พบว่าเผ่าโฮปี มีการทำนามีการร่วมมือกัน พึ่งพาอาศัยกัน มีการดำเนินชีวิตแบบสังคมเกษตรกรรมร่วมกัน พวกเด็กที่เติบโตขึ้นมาจากครอบครัวเหล่านี้ จึงได้รับการสั่งสอนให้ร่วมมือกันตลอดเวลา

2. รางวัลหรือเครื่องล่อใจ (Reward or Incentive) ช่วยให้เกิดการร่วมมือกันเพื่อให้ได้มาซึ่งรางวัลหรือผลประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกัน

3. สถานการณ์ (Situation) ในสถานที่แห่งเดียวกันอาจทำให้เกิดความร่วมมือหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ในโรงภาพยนตร์เมื่อภาพยนตร์จบแล้ว คนที่ออกไปดูจะออกจากโรงภาพยนตร์ก่อนหลังอย่างเป็นระเบียบ แสดงว่าบุคคลส่วนใหญ่มีการร่วมมือกัน แต่ถ้าเกิดไฟไหม้โรงภาพยนตร์ขณะกำลังฉาย คนดูเหล่านั้นจะต่างคนต่างรีบออก ทำให้เกิดการแออัดติดขัด แสดงว่าบุคคลเหล่านั้นเกิดการแข่งขันไม่มีการร่วมมือ

4. ลักษณะนิสัย (Characteristic) เป็นพฤติกรรมหรือความประพฤติส่วนตัวของบุคคลนั้นโดยกระทำอยู่เป็นประจำ ซึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อ ค่านิยมและพฤติกรรมของเขาเอง

ผลเสียของการร่วมมือ
อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีผลที่สมาชิกจะได้รับไม่เป็นไปในทำนองเดียวกันหรือน่าจะเป็นไปตามเหตุผลที่ควรจะเป็น หรือถ้ามีผลประโยชน์หรือเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้อง บุคคลจะพยายามแข่งขันเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน การร่วมมือกันก็จะลดลง และ ถ้าสมาชิกได้รับการฝึกฝนหรือเรียนรู้มาจนเป็นลักษณะนิสัย ก็อาจทำให้สมาชิกทำงานให้กับกลุ่มไม่เต็มความสามารถของตน เพราะคิดไปว่า (หรืออะไรก็ตามที่จะคิด) คนอื่นๆในกลุ่มที่ต้องทำงานอันนี้ร่วมกับเขายังมีอีก

ตัวอย่างการศึกษาความร่วมมือ : เกมแห่งการร่วมมือ หรือ เกมแห่งการแข่งขัน : คลิกอ่าน >> [การศึกษาการร่วมมือจากเกม บริษัทจำกัด]

เอกสารอ้างอิง : ถวิล ธาราโภชน์. จิตวิทยาสังคม. กรุงเทพมหานคร: โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮาส์, 2532
จัดทำโดย : นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข และคณะ นักศึกษา ป.บัณฑิต วิชาชีพครู
ภาพประกอบจาก : http://www.nitade.siam.edu/images/network.gif



Leave a Comment