นวัตกรรมการเรียนรู้ของครู สควค. เรื่อง สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย เป็นผลงานของ ครูปรียาภรณ์ ทะพิงค์แก โรงเรียนบ้านสันป่าสัก จังหวัดเชียงใหม่ สควค. รุ่น 7 นวัตกรรมชิ้นนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศจากโครงการ ” Thailand Innovative Teachers Leadership Awards 2010″ ที่จัดโดยบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับกระทรวง ศึกษาธิการ และเป็น 1 ใน 10 ตัวแทนประเทศไทย เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมและนำเสนอผลงานเข้าประกวดระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในงาน “6th Asia Pacific Regional Innovative Education Forum 2010” ณ ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 8-12 มีนาคม 2553 จึงขอแบ่งปันประสบการณ์ของความสำเร็จจากพี่น้องของเรามากำนัลแก่เพื่อนร่วมวิชาชีพทุกคน
เมื่อปี พ.ศ. 2549 อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่ในการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ซึ่งมีการจัดแสดงพันธุ์ไม้นานาชนิด หลังจากมหกรรมพืชสวนโลกจัดแสดงประมาณ 1 เดือน สพท. เชียงใหม่ เขต 4 มีแนวคิดที่จะเก็บองค์ความรู้ไว้เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการศึกษาของนักเรียน จึงได้ให้งบประมาณส่วนหนึ่งแก่โรงเรียนนำนักเรียนเข้าไปทัศนศึกษา เก็บข้อมูล สร้างองค์ความรู้ และพัฒนานวัตกรรมเพื่อนำเสนอองค์ความรู้เหล่านั้น โดยโรงเรียนบ้านสันป่าสักได้รับมอบหมายให้เข้าไปเก็บรวบรวมองค์ความรู้ที่สวนสมุนไพร
นายพิกัด ขัติพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสันป่าสัก จึงได้ประชุมครู ซึ่งประกอบด้วยนางวัลลภา พรมท้าว ครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ และนางสาวปรียาภรณ์ ทะพิงค์แก ครูผู้สอนเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ร่วมกันวางแผนในการจัดแผนการเรียนรู้ วิธีการรวบรวมองค์ความรู้และเทคโนโลยีสำหรับการเผยแพร่องค์ความรู้ โดยครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ จะเน้นให้นักเรียนได้รับความรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพร ส่วนครูผู้สอนเทคโนโลยี จะเน้นให้นักเรียนมีความรู้เกี่ยวกับการแก้ปัญหาโดยใช้สารสนเทศ (Information problem-solving) จากนั้นจึงนำนักเรียนชั้น ม.1-3 เข้าศึกษาแหล่งเรียนรู้ในงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 แล้วนักเรียนจึงใช้กระบวนการเทคโนโลยีสนเทศในการสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้สมุนไพรไทย และภูมิปัญญาไทยจากแหล่งเรียนรู้ จึงทำให้มีเว็บไซต์สวนสมุนไพร [http://www.sps-school.com/herbal] เกิดขึ้น
จนปีการศึกษา 2552 ผู้เขียนซึ่งเป็นครูผู้สอนเทคโนโลยีสารสนเทศ เห็นว่าเว็บไซต์สวนสมุนไพรยังคงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีสำหรับนักเรียน จึงได้จัดแผนการเรียนรู้ให้นักเรียนรุ่นปัจจุบัน เรียนรู้การแก้ปัญหาโดยใช้สารสนเทศและเพิ่มขีดความสามารถของเว็บไซต์ให้นักเรียนสามารถเพิ่มองค์ความรู้ได้เอง จนเกิดเว็บไซต์องค์ความรู้สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทยในเวอร์ชั่นปัจจุบัน โดยมีการจัดกระบวนการเรียนรู้ดังนี้
1) ครูนำเข้าสู่บทเรียนโดยเล่าถึงเรื่องภูมิปัญญาไทย แล้วให้นักเรียนช่วยกันเสนอเรื่องเกี่ยวกับภูมิปัญญาไทยในท้องถิ่นของนักเรียน เป็นขั้นตอนในการ Brainstorm
2) นักเรียนเข้าเว็บไซต์สวนสมุนไพรไทย แล้วเชื่อมโยงเข้ากับภาระงาน
3) นักเรียนทำใบงาน “สืบเสาะสมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย” ซึ่งระบุให้นักเรียน ไปถ่ายรูปสมุนไพรที่บ้านนักเรียน จากนั้นใช้การแก้ปัญหาโดยใช้สารสนเทศในการสร้างองค์ความรู้ของนักเรียนเอง
4) นักเรียนศึกษาวิธีการเผยแพร่องค์ของความรู้ของนักเรียนจากเว็บไซต์ [http://www.sps-school.com/herbel] ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ใช้เทคโนโลยี Web 2.0 โดยครูคอยชี้แนะและให้คำปรึกษา จากนั้นนักเรียนปฏิบัติการเผยแพร่องค์ความรู้ของนักเรียนลงในเว็บไซต์ดังกล่าว ซึ่งนักเรียนจะเห็นผลงานทั้งของตัวเอง และเพื่อน ทำให้เป็นส่วนกระตุ้นให้นักเรียนพัฒนาผลงานของตนเองให้ดียิ่งขึ้น
5) นักเรียนและครูร่วมกันสรุปเกี่ยวกับขั้นตอนการแก้ปัญหาโดยใช้สารสนเทศ
กระบวนการจัดการเรียนรู้ดังกล่าวทำให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง โดยใช้เรื่องรอบตัวมาผสมผสานกับการใช้เทคโนโลยี Web 2.0 แล้วใช้กระบวนการแก้ปัญหาโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะเน้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการค้นหา รวบรวม สังเคราะห์ นำเสนอ และประเมินผลสารสนเทศ มาพัฒนาทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ ที่จะติดตัวกับนักเรียนตลอดไป
การสร้างนวัตกรรมนี้ เกิดความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนและผู้ปกครอง ตลอดจนคนในชุมชน โดยใช้แหล่งเรียนรู้ที่บ้านหรือชุมชนของนักเรียนเป็นสถานที่ถ่ายรูปสมุนไพร เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการสืบเสาะหาความรู้ของนักเรียน เนื่องจากพืชสมุนไพรบางชนิดที่นักเรียนไม่รู้จัก นักเรียนต้องถามจากผู้รู้ อาจจะเป็น พ่อ แม่ หรือ คนเฒ่าคนแก่ ที่อยู่บริเวณนั้น เป็นการสืบสานผู้ปัญญาไทยจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง และคนในชุมชนเป็นอย่างดี ที่จะให้ความรู้แก่นักเรียน อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความภูมิใจในความเป็นไทยอีกด้วย
โครงการ Microsoft Innovative Teachers Leadership Awards จัดมาแล้ว 6 ปีด้วยกันและเบื้องต้นจะจัดต่อเนื่องไปอีก จึงขอเชิญชวนครูไทย โดยเฉพาะครู สควค. ที่มีนวัตกรรมการเรียนการสอนที่ดีๆ ได้นำมาประกวดกัน ซึ่งจากการเข้าร่วมการประกวดและเข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาตินั้น ข้าพเจ้าได้รับความรู้และประสบการณ์ที่ดี มิตรภาพจากเพื่อนครูด้วยกัน เทคนิควิธีการสอนในระดับโลก เพราะครูทุกคนจะต้องเตรียมรับการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนให้เข้ากับศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะได้นำความรู้มาพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 14 หน้าที่ 8-9 เขียนโดย ครูปรียาภรณ์ ทะพิงค์แก สควค.รุ่น 7 ครู ร.ร. บ้านสันป่าสัก จ.เชียงใหม่